สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์
มีคนถามว่าทำไมต้องล้างพระก็ต้องตอบว่าเพราะพระเปื้อน หรือมีอะไรต่อมิอะไรปกคลุมสภาพพระเอาไว้ เช่น เมื่อนำพระมาห้อยคอก็มีเหงื่อ ไคล คราบสกปรก ฝุ่นละออง ขี้เกลือ ฯลฯ หรือพระที่ออกมาจากกรุก็จะมี ดิน ทราย ขี้กรุ คราบกรุ คราบน้ำฮาก (น้ำที่ต้นไม้ใหญ่ดูดไว้ในรากต้อนหน้าน้ำ หน้าแล้งคลายออกมาส่วนมากจะมีแร่เหล็กปน) หินปูน สนิม ราดำ รักน้ำเกลี้ยง รักดิบ เป็นต้น
วันนี้พูดถึง “การล้างพระเนื้อดิน" ก่อน พระเนื้อดินที่ทำลายสถิติการล้างจนสนนราคาก่อนและหลังล้างห่างกันหลายพันลี้ต้อง บันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ก็คือ พระกำแพงซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ มีกระหนก เนื้อสีแดง ที่วงการเรียกกันว่า “องค์เจ้าเงาะ' ล้างโดย ท่านอาจารย์เชียร ธีระศานต์ เชื่อไหมครับอาจารย์เชียรล้างตั้ง 11 ครั้ง กว่าจะ "เห็นรูปสุวรรณอยู่ชั้นใน รูปเงาะนั้นใส่ให้คนหลงใครๆ ไม่เห็นรูปทรง เพราะเป็นทองทั้งองค์ อร่ามตา” ที่คลุมท่านไว้นั้นเขาเรียกว่า “ราดำ ”เป็นพืชชนิดหนึ่ง ถ้าพระไม่แท้ ราดำจะไม่ขึ้นหรอกนะครับ คนล้างก็เก่งทื้งราดำไว้นิดๆ เป็นการการันตีว่าเป็นของแท้แน่นอน ต่างชาติเช่าไป ราคาตั้ง ห้าสิบล้านนะครับ ล้างพระดีไม่ดีน่าศึกษารึไม่คิดดูเอาเอง
ทีนี้ถ้าจะล้างพระเนื้อดินทั่วๆ ไปที่ห้อยคออยู่ หรือมีคราบสกปรกจับ ก็ให้เอาน้ำอุ่น (ไม่ใช่น้ำร้อนนะครับ) แช่พระลงไป เอาพู่กันของ อ. สง่า มยุระ อันไม่ต้องใหญ่มาก ขลิบปลายให้ยืดหยุ่น ค่อยๆปัดคราบสกปรกออก ถ้ายังเหนียวแน่น ให้เอาสบู่เหลวละลายลงไปแล้วปัดไปปัดมา แต่อย่าปัดซะหน้าพระหายไปด้วยก็แล้วกัน เสร็จแล้ว อัญเชิญขึ้นมาเป่าด้วยที่เป่าผมให้แห้ง เป่าไกลๆ หน่อยนะครับแล้วไม่ ต้องกดปุ่มร้อนมากเดี๋ยวพระแตก เมื่อก่อนเขาผึ่งให้แห้งเอง แต่เดี๋ยวนี้ผึ่งไม่ได้แล้วเพราะคนไทยใจร้อน แล้วอีกอย่างเดี๋ยวพระหาย
อันว่าการล้างคราบสกปรกแบบนี้ เป็นวิธีการตรวจสอบพระแท้ พระซ่อมได้อีกประการหนึ่ง ถ้าแท้แน่นอนจริงๆ พระแท้จะไม่ละลายไปกับน้ำอุ่นเพราะพระเนื้อดินแท้ย่อมเผาได้ที่ คงทนแดดฝนร้อนหนาว แต่ ปัญหาหนึ่งก็คือถ้าซ่อมเอาไว้มักจะหลุดตามน้ำออกมา ดังนั้นหากรู้ว่า พระตัวเองมีซ่อมไม่ต้องแช่ลงไปในน้ำ ให้ใช้พู่กันหรือคอตตอนบัดจุ่ม แล้วค่อยๆ ลูบก็พอแล้ว ตรงไหนรู้ว่าซ่อมก็ข้ามๆ ไปซะ มีอยู่รายหนึ่งหย่อนเม็ดขนุนลงไปในถ้วยน้ำชา หน้าหลุดออกมาต้องวิ่งมาหยอดแล้วเอากลับไปอยู่กับก๋งตามเดิม นี่แสดงว่าคนหย่อนเป็นมวย
พอพระแห้งแล้วผิวจะเปลี่ยนไป ไม่ต้องตกใจ มีวิธีเรียกผิวเดิมที่สะสวยยกเว้นคราบสกปรกกลับมา ให้เอาครีมทาผิวขวดสีชมพู ทาด้วยพู่กันให้ทั่วทั้งหน้าหลัง ทิ้งไว้สักสองวัน ครีมจะซึมเข้าไปเรียกความงามของเนื้อพระกลับคืนมา ทีนี้ก็อัญเชิญไปใส่ตลับได้ ถ้าตลับสกปรกก็ให้เอาลงต้ม ต้มได้ทั้งตลับทอง ทองฝังเพชร ตลับเงิน ตลับสเตนเลส พอน้ำเดือดก็บีบมะนาวลงไปซักครึ่งลูก อันนี้ใช้ล้างแหวนเพชร แหวนพลอย สร้อยคอ อะไรประมาณนี้ก็ได้นะครับถ้าหากเป็นเนื้อดินที่เพิ่งขึ้นจากกรุ อย่าไปยุ่ง ปล่อยให้เซ็ตตัว ชักสองสามวัน เนื้อพระจึงจะคืนสภาพไม่อ่อนยวบยาบ ส่วนใหญ่จะมีดินขี้กรุ และอื่นๆ ปกคลุม ให้เอาน้ำมันใส่ผมประเภทออด๊าซ ไบรล์ครีมหรือแอคชั่น ชะโลมให้ทั่ว ทิ้งไว้สักวันสองวัน น้ำมันพวกนี้จะทำหน้าที่แยกเนื้อดินกับสิ่งปกคลุมองค์พระไม่ให้กลืนเป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นก็นำมาเขี่ยในน้ำอุ่น ที่นี้พู่กันมักจะเขี่ยไม่ค่อยออก ต้องใช้ไม้จิ้มฟันทำปลายให้แยกเป็นพู่ แช่น้ำทิ้งไว้สักครู่ค่อยนำมาใช้ คนเขี่ยต้องรู้เรื่องแม่พิมพ์พระด้วย เพราะถ้าไม่รู้อาจเขี่ยจมูกปากพระหลุดติดมาก็ได้
จริงๆ แล้ว "เนื้อพระดิน" อาจแบ่งออกเป็นสามชั้น ชั้นในสุดจะแกร่งเพราะโดนความร้อนตอนเผาอบอยู่ข้างในมักมีสีเขียว ชั้นสองจึงเป็นชั้นนอกที่มองเห็นทั่วไป แต่ชั้นที่สามจะเป็นผิวพระเหมือนหนังกำพร้าของคนมีความสวยงามของผิวบนของเนื้อดินที่ทำปฏิกิริยากับอากาศ ฝีมือล้างขั้นเซียนเหยียบเมฆจะเหลือเห็นผิวนอกสุดไว้ด้วย ทีนี้วัสดุที่คลุมองค์พระเนื้อดินไว้นั้น มีมากมายหลายอย่าง วิธีเอา ออกเลยแตกต่างกันบ้าง เช่น ถ้าเป็น “คราบดินธรรมดา ก็ใช้น้ำผสมสบู่ ล้างง่ายๆ แต่ถ้าเป็น 'คราบกรุ' ต้องใช้น้ำมันใส่ผมแยกเนื้อดินออกจากกรุก่อนแล้วจึงล้าง ถ้าขี้กรุแข็งล้างไม่ออกต้องผสมน้ำยาสูตรพิเศษ สมัยก่อนเขาใช้น้ำยากัดกระเบื้องยี่ห้อ โอลด์ไบร์ท เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว เอาเป็นว่าให้หาน้ำยาทำความสะอาดกระเบื้อง เช่น วิกซอล อะไรทำนองนี้ผสมน้ำเปล่าในอัตราน้ำยา 1 ส่วน น้ำเปล่า 3 ส่วน แล้วแช่พระลงไปจะใช้โชตาไฟสองสามเกล็ดผสมน้ำก็ได้ ค่อยๆ ใจเย็นๆ เขี่ยไปล้างไปส่องไป อาจารย์เชียร ท่านยังล้างตั้งสิบเอ็ดครั้ง ก็จะมีส่วนที่หลุดออก หากเหลือที่จับแน่นแข็งขืนไม่ยอมหลุดออกมาก็ให้เพิ่มความเข้มข้นของน้ำยาไปเรื่อยๆ จนถึงชั้นใช้พู่กันจุ่มน้ำยา 100 เปอร์เซ็นต์เลยหลุดแน่นอน วิธีที่พูดมานี้ใช้ได้ทั้งขี้กรุ น้ำฮาก คราบสนิมหากเป็น 'ราดำ' วิธีกำจัดคือเก็บพระไว้ในที่แห้ง ยิ่งนานก็จะล้างง่ายขึ้น แต่อย่าเอาออกหมดนะครับเหลือไว้เป็นร่องรอยบ้างว่าเนี่ยเก่าจริง เพราะถ้าไม่เก่าจริงราดำไม่มีทางขึ้น
นอกจากนี้ยังมีบางองค์ “ชุบรักน้ำเกลี้ยง” ซึ่งคนโบราณชอบใช้ทาพระเวลาอมพระหรืออาราธนาติดตัวหรือจุ่มทำน้ำมนต์พระก็จะไม่สึกง่ายแต่เลิกคิดล้างออกไปได้เลยเพราะยากมาก ถึงมากที่สุด ผิดกับ 'รักดิบหรือรักดำ' ที่มีความหนาแน่นมากไม่ซึมเข้าเนื้อพระ เมื่อได้อายุรักดำจะค่อยๆ กรอบแล้วร่อนเป็นแผ่นๆ โบราณใช้ทาแล้วปิดทองคำเปลวลงไป อันนี้ต้องใช้ฝีมือหน่อยเหมือนการล้างรักในพระสมเด็จฯ คือ ต้องเอาน้ำยาลอกสี ขอนำเสนอยี่ห้อ ไดคลอโรมีเทน (Dichlomethane) ผสมน้ำอัตรา 1 ต่อ 3 ให้ดูอายุรักด้วยว่ากรอบมากหรือน้อย ถ้ากรอบน้อยก็ผสมให้เข้มข้นมาก ถ้ากรอบมากแสดงว่ารักจะหมดอาย แล้วก็ผสมบางๆ ใช้พู่กันป้ายทีละจุด พอป้ายปั๊บก็จุ่มพระลงไปในอ่างที่แช่น้ำแข็ง รักจะได้รีบหดตัวหรือม้วนตัว ใช้ปลายพู่กันค่อยๆ แทงรัก ให้หลุด หากปลายพู่กันแทงไม่ออกก็ให้ใช้ปลายไม้จิ้มฟัน หรือใบเลื่อย ที่นักเรียนใช้ฉลุไม้นำมาตัดปลายให้แหลมใช้ผ้าพันไว้จับ ใบเลื่อยนี่จะมีสปริงแคะรักได้ดี ที่สำคัญอย่าให้โดนผิวพระเป็นเด็ดขาด วิธีนี้นิยมนำไปล้างรักในพระสมเด็จฯ ซึ่งจะเกิดปฏิกิริยาการแตกลายงาอย่างสวยงาม
หากไปเจอพระเนื้อดินที่คนโบราณชอบใส่ไว้ในตลับสีผึ้งเอาไว้ทาปาก พอดึงขึ้นมาพระจะฉ่ำไปด้วยขี้ผึ้งล้างยังไงก็ไม่ออก ต้องต้มน้ำให้เดือดแล้วเทใส่ถ้วย แช่พระลงไปขี้ผึ้งจะค่อยๆ ลอยจากองค์พระ แล้วเปลี่ยนน้ำให้ร้อนไปเรื่อยๆ ก็จะได้พระที่ไม่มีไขขี้ผึ้ง อย่าลืมเรียกผิวพระกลับคืนด้วยโลชั่นบำรุงผิว คำเตือนอีกอย่างคือที่ พูดมานี่ใช้กับพระเนื้อดินที่ผ่านการเผาเท่านั้นพระอย่างอื่นไว้พูดกันวันหลังหากจะเริ่มลองล้างให้หาพระราคาถูกๆ ล้างดูก่อนจนชำนาญแล้วค่อยล้างพระแพง ที่สำคัญต้องใจเย็นๆ ค่อยๆ ทำไปนะครับ พอล้างเป็นความสามารถในการดูพระจะพัฒนาขึ้นอีกหลายขั้นเลยที่เดียวเชียวครับผม