ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “มนุษย์ของโลก ณ วันนี้ชอบสร้างเงื่อนไขแห่งการกีดกัน แบ่งแยกตนเองออกไปจากความเป็นมิตรภาพ ด้วยหลักคิดและทัศนคติส่วนตนที่เหมือนว่าจะสมประโยชน์ต่อการรับรู้ แต่กลับทำให้หัวใจแห่งการดำรงชีวิตร่วมกันต้องแตกสลายลง...เป็นโศกนาฏกรรมทางความรู้สึกที่กระจัดกระจายอยู่กับความมืดมนแห่งอวิชชา...เหตุนี้ต่างคนจึงต่างลุกขึ้นมาสร้างกำแพงแห่งความชอบธรรมขึ้นเพื่อนัยสำนึกของตนเอง...ทุ่มเทกันพะนออัตตาจนก่อรูปรอยเป็นกำแพงสูงที่ทั้งหนาและทึบ.. ทั้งหมดคือรูปรอยการปิดกั้นจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ ที่จะสื่อผ่านถึงกันด้วยเจตจำนงที่ใสสะอาด...กระทั่งมาถึงวันนี้ผู้คนส่วนใหญ่ที่ต่างเคยลุกขึ้นมาสวมใส่สีเสื้อเพื่อแบ่งเขาแบ่งเราด้วยนัยแห่งเหตุผลที่แปลกต่างและบาดลึกอารมณ์กันออกไป...ต่างก็ลุกขึ้นมาสวมใส่หน้ากากแห่งความเกลียดชังเพื่อปลุกเร้าความคลั่งแค้นภายใน เพื่อหักโค่นภาวะแห่งการเคยอยู่ร่วมกันอย่างศานติ...จนก่อเกิดเป็นสนามรบแห่งจิตวิญญาณขึ้นมาในที่สุดอีกครั้ง กำแพงแห่งมายาจริตกำแพงแล้วกำแพงเล่า..ถูกความขัดแย้งเกลียดชังสถาปนาขึ้นเป็นอนุสาวรีย์แห่งความสาแก่ใจ โดยปล่อยให้นัยความหมายแห่งการเป็นศานติ ต้องไล่ล่าหาเงาที่แท้ของตนเองอยู่กับความโดดเดี่ยว ซึ่งสุดท้ายก็ไม่เหลืออะไรไว้ให้ดูต่างหน้าเลย นอกไปเสียจากรสชาติแห่งบาดแผลของความเป็นหายนะที่แปดเปื้อนต่อกันเพียงเท่านั้น...” ผมรำลึกถึงบทรำพึงในความรู้สึกจริงเบื้องต้น หลังจากตั้งใจกลับไปอ่านเรื่องราวในกวีนิพนธ์ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ เล่มนี้อีกครั้ง ด้วยเหตุผลแห่งการย้อนไปทับรอยประวัติศาสตร์ที่อุบัติขึ้นอย่างเยียบเย็นและโหดเหี้ยมอีกครั้งต่อผู้ที่เห็นต่างจากผู้ปกครองที่หลงใหลและเพียรเกาะกุมอำนาจเอาไว้กับตัวอย่างหื่นกระหาย...เหตุนี้นัยแห่งความเป็นศานติอันจริงแท้จึงเหมือนถูกปล่อยไว้อย่างเรี่ยราด ให้ต้องกระเสือกกระสนไขว่คว้าหาเงาร่างที่แท้ เงาร่างที่มีคุณค่าของตนเองดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว... อย่างไรก็ดี...ไม่ว่ามันจะเป็นกำแพงอิฐ กำแพงลม หรือกำแพงแห่งรั้วลวดหนาม ทั้งหมดคืออุปมาแห่งจริตที่ก่อเกิดขึ้นจากความแตกแยกเกลียดชังของผู้ที่มีสายเลือดเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นใน เยอรมนี ปากีสถาน เวียดนาม เกาหลี / อดีตแห่งความเป็นจีน กระทั่งนับเนื่องมาถึงประเทศไทยของเรา ณ ปัจจุบัน../อะไรคืออะไรในมิตินี้?/หรือมันเป็นแค่เพียงละครน้ำเน่าหลงโรงในโลกของอคติเชิงผลประโยชน์ โลกของคนตาบอดที่บอดใบ้ในศรัทธาของการยอมรับนับถือคุณค่าของมนุษย์ระหว่างกัน..นั้นเป็นคำถามโง่ๆ ที่ดูจะไร้คำตอบอันควรมีควรเป็นอย่างสามัญ แล้วสิ่งต่างๆดังกล่าวนี้...จริงๆแล้วมันคือความหมายของสิ่งใดกันเล่า? “รั้วลวดหนามและกำแพงคอนกรีต ผุดขึ้นกลางกรุงเบอร์ลิน/แบ่งกั้นสายลมและแสงแดดแห่งเยอรมนีตะวันออก/แบ่งกั้นแสงแดดและสายลมแห่งศตวรรษที่20/แปรอุดมการณ์ให้กลายเป็นรูปธรรม/ทั้งกักขัง ทั้งแบ่งแยกพลเมืองออกเป็นสองฝั่ง/ความภาคภูมิใจของรัฐบาลคอมมิวนิสต์/แปรรูปปรัชญาของรุสโซมาใช้ให้เป็นประโยชน์/มนุษย์เกิดมาเสรี...แต่ทุกแห่งทุกที่มีพันธนาการ/” “ศิริวร” เปิดเรื่องราวของเขาด้วยปูมประวัติอันเป็นที่มาแห่งกำแพงเบอร์ลิน ที่ไม่มีประโยชน์ต่อการตั้งคำถามมาถึงวันนี้ว่า...มันเกิดขึ้นได้อย่างไร? และเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ใด? ../บางทีหลายๆขณะมนุษย์เราก็ตัดสินใจที่จะกระทำอะไรบางสิ่งในเงื่อนไข ที่เต็มไปด้วยเงื่อนงำเฉพาะตัว โดยตั้งใจที่จะไม่ละอายต่อบาป แต่กลับยึดโยงอยู่กับความมืดดำที่อับจนของหัวใจ...ทั้งๆที่.. “มนุษย์เกิดมาพร้อมพันธนาการ/ทุกแห่งทุกหนเขาจึงปรารถนาอิสรเสรี/มนุษย์บางกลุ่มจึงกลายเป็นคนปลูกดอกไม้/ขายให้กลุ่มคนบนหอคอย/ไว้บูชาสักการะทวยเทพผู้ปกป้องคุ้มครอง/เพื่อมิให้พวกเขาต้องตกระกำลำบาก/เพื่อมิให้พวกเขาต้องตกลงมาจากเบื้องบน/กลายเป็นชนชั้นที่ถูกสาปให้ปลูกดอกไม้” โดยส่วนตัว...ผมถือว่ากวีนิพนธ์ในเล่มนี้ทั้ง50บท..ส่วนใหญ่แล้วคือภาวะเคลื่อนไหวแห่งความคิด จิตใจ และอารมณ์ ที่เปี่ยมเต็มไปด้วยแรงขับเคลื่อนที่ทุ่มเทออกมาจากวัฒนธรรมสำนึกของผู้ที่คิดถึงผลกระทบในทางจิตวิญญาณที่ไม่อาจแบกรับต่อไปได้ ทั้งนี้ด้วยลักษณะของเนื้องานที่อยู่ในวิถีและรูปรอยรอยของ “Poetry In Motion” ...ซึ่งทั้งเคลื่อนไหว สั่นไหว และปลุกเร้า ต่อกระบวนการแห่งสำนึกรู้อยู่ตลอดเวลา มันคือสภาวะอันตั้งใจที่จะเผชิญหน้า...โดยไม่เกรงว่าการเผชิญหน้านั้นจะนำพาไปสู่การก่อมิตรหรือศัตรูก็ตาม “ด้วยอิฐคนละก้อน/วางซ้อนลงบนความเกลียดชัง/ด้วยอิฐคนละก้อน วางซ้อนลงบนความคลุ้มคลั่ง/...ไม่มีใครถาม การสลายชนชั้นไฉนจึงต้องกั้นกำแพง/...ไม่ต้องบอกก็รู้ ไม่ต้องดูก็เห็น/มนุษย์ยินยอมที่จะผลิตซ้ำอำนาจ..มนุษย์ยินยอมที่จะผลิตซ้ำความผิดพลาด/เพื่อเขียนประวัติศาสตร์ให้ตัวเอง/ แม้จะรู้ว่า...เบื้องหน้านั้น/เมื่อกำแพงถูกทุบทำลายทิ้ง/ความจริงกำลังจ้องตาเราอยู่” “ศิริวร” เขียนกวีนิพนธ์ส่วนใหญ่ของเขา...ด้วยลักษณะของการใช้ภาษาที่สะเทือนอารมณ์และแสดงความคิดที่ลึกซึ้งโดยเน้นย้ำการเรียงร้อยถ้อยคำที่เป็นอิสระ...เป็นพลังร้อยแก้วที่สื่อความหมายอันเข้มข้นและหนักแน่นกว่าภาวะปกติ..เป็นกวีไร้ฉันทลักษณ์ที่ใช้การสัมผัสคำและความด้วยอารมณ์ที่พวยพุ่งและด้วยความรู้สึกที่พยายามผลักดันการครุ่นคิดด้วยมุมมองต่างๆนานาให้เกิดขึ้น.. “หยุดเพ่งพินิจคนคุ้นเคยในนั้น/แล้วข้าก็ถูกความจริงโจมตี/เป็นความจริงกลับด้าน/ซ้ายกลายเป็นขวา/ขวากลายเป็นซ้าย/ยิ่งพินิจ ข้ายิ่งประหลาดใจ/คงมีใครแอบโปรยหว่านความเศร้า/ชำแรกผ่านเปลือกตาเข้ามา/ขณะที่ข้าหลับฝันถึงราตรีที่ลุกไหม้” ท่าทีในการถ่ายทอดกวีนิพนธ์ของ “ศิริวร” คือท่าทีที่ทำให้น้ำเสียงของเรื่อง ดำเนินไปด้วยทัศนคติที่แฝงอยู่กับความเป็นวรรณศิลป์ มันพุ่งตรงเข้าสู่เป้าหมายอย่างตรงไปตรงมา..ทางความรู้สึก “ยิ่งเพ่งพินิจ ข้ายิ่งประหลาดใจ/คงมีใครแอบโปรยหว่านความเศร้า*/ชำแรกผ่านเปลือกตาเข้ามา/ขณะข้าหลับฝันถึงราตรีที่ลุกไหม้/มีคนกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันที่สี่แยกใจกลางเมือง/เสียงตะโกนของพวกเขาแผดเผาข้า/ข้าระเหยกลายเป็นเมฆ/เมฆที่กำลังควบแน่น/” นั่นอาจเป็นหรืออาจหมายถึงความเคียดขึ้งและอีกหลายๆความรู้สึก มันปะปนกัน ทั้งความโศกเศร้า เสียดสี รวมถึงนัยของความหมางเมิน เกลียดชัง และขัดแย้ง...ทั้งหมดคือ ผลรวมแห่งสัญชาตญาณของการรับรู้ที่เต็มไปด้วยรอยอำพรางของความขุ่นมัว...คำถามที่เป็นคำถามแต่ไม่ได้ถามเหมือนจะรบกวนจิตใจ “ศิริวร” อยู่ตลอดเวลา...มันอาจส่งผลกระทบต่อใครบางคน อุดมการณ์บางอุดมการณ์...ถือเป็นความเผ็ดร้อนเดือดพล่าน ที่กำลังโต้คลื่นอยู่กับมหาสมุทรของความเป็นจริงที่ดำรงอยู่เหนือการคาดคิด..กวีนิพนธ์ “ร้อยกรอง” บางบทของเขาสื่อภาวะวรรณกรรมตรงส่วนนี้ออกมาอย่างเปิดเปลือยยิ่ง... “ท่านแปรรูปทุบตี เสรีภาพ/ปวงคัมภีร์ที่ท่านคาบ คือฉ้อฉล/หวังแปรรูปมวลมหาประชาชน เป็นหน่วยเกมหมากกล บนกระดาน/ท่านกอดกุมนิยามความเบ็ดเสร็จ/อิฐแห่งความมดเท็จ คือรากฐาน/ทั้งดาวเทียม ดาวแท้ สัมปทาน /ทุกดอกใบหญ้าบาน ท่านควบคุม/ท่านแปรรูปประเทศเป็นเขตทุกข์/ท่านแปรยุคร่มเย็นเป็นร้อนรุ่ม /อย่าให้เราแปรความเศร้าที่ร้าวรุม/เป็นสุมทุมสีทองของเปลวไฟ/” ณ ที่นี้ “อะไรคืออิฐแห่งความเท็จ” ในความหมายของผู้เป็นกวีกันแน่..นี่คือปมเงื่อนแห่งความจริงลวงที่กลายเป็นความรู้สึกซึ่งต่างโยงใยอยู่กับปริศนาอันซ่อนเร้นของสังคม...ในฐานะของความเป็นมนุษย์และในรูปรอยแห่งจิตวิญญาณของความเป็นกวี...ผมถือว่าทุกๆคนเมื่อตกอยู่ในสถานะและบทบาทนี้แล้ว ก็ย่อมต้องดำเนินชีวิตของตนเพื่อก้าวย่างไปข้างหน้าอย่างสัตย์ซื่อ และนบน้อมต่อการกระทำแห่งตน “รั้วลวดหนามและกำแพงคอนกรีตผุดขึ้นกลางกรุงเบอร์ลิน/แบ่งกั้นสายลมแสงแดดแห่งศตวรรษที่20/แปรอุดมการณ์ให้กลายเป็นรูปธรรม/ทั้งกักขัง ทั้งแบ่งแยกพลเมืองออกเป็นสองฝั่ง/ค่อยๆก่อตัวขึ้นกลางกรุงเทพมหานคร/กำแพงเบอร์ลินแห่งศตวรรษที่21/แบ่งกั้นแสงแดดและสายลมแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา/แบ่งกั้นความมืดและแสงสว่างกลางดวงใจเรา..” แท้จริง...ความจริงจากสายตาของ “ศิริวร” ในฐานะผู้สร้างสรรค์วรรณกรรมเป็นเช่นนี้ มันคือความแยบยลแห่งสายตาของจิตใจที่เพ่งพินิจถึงความจริง...ทำไมเล่าความขัดแย้งเกลียดชังจึงเกิดขึ้นบนพื้นที่ชีวิตเดียวกัน อะไรคือแก่นแท้แห่งอคติที่นำมาสู่ความแตกแยกอันยากที่จะสมานบาดแผลซึ่งถูกฉีกทึ้งจนเหวอะหวะ กระทั่งเกิดเป็นริ้วรอยแหลกสลายอันเจ็บปวดและขมขื่นนี้.. “คุณไม่ได้เผาตึกหนึ่งหรอก/คุณไม่ได้เผาเมืองหนึ่งหรอก/นั่นคือการเผาวัฒนธรรมของเมืองเมืองหนึ่ง/นั่นคือการเผาอารยธรรมของประเทศหนึ่ง/คุณไม่ได้เผาตึกหนึ่งหรอก/คุณไม่ได้เผาเมืองเมืองหนึ่งหรอก/นั่นคือความเกลียดชังที่ถูกปกคลุมจนลุกเป็นไฟ/นั่นคือความยากไร้ลุกไหม้จนกลายเป็นควัน/คุณไม่ได้เผาตึกหนึ่งหรอก/คุณไม่ได้เผาเมืองหนึ่งหรอก/” มาถึงวันนี้...แทบไม่น่าเชื่อว่าปรากฏการณ์แห่งความขัดแย้งในลักษณะดังกล่าวได้ก่อตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อสัมพันธภาพระหว่างประชาขน จนยากจะเยียวยาแก้ไข/สังคมเต็มไปด้วยความเป็นอื่น ภาวะแห่งความเป็นศัตรูต่อกันก่อตัวขึ้นจนไม่อาจจะป้องกัน และยับยั้งได้.. และนี่คือรวมกวีนิพนธ์ ที่กอปรด้วย รูปแบบและเนื้อหา ผ่านงานฝีมือแห่งสมอง กาย และใจ ที่สมบูรณ์เล่มหนึ่งในห้วงเวลาที่ยากลำบากเช่นเวลานี้...ซึ่งก็ไม่ว่าผลลัพธ์โดยรวมของกวีนิพนธ์เล่มนี้จะเป็นเช่นใดก็ตาม....ความพึงพอใจหรือไม่พึงพอใจเกี่ยวกับภาพแสดงที่เป็นกำแพงแห่งศรัทธาและภูมิปัญญาของสังคมประเทศ ก็ได้ทอดยาวออกไปไกลมากแล้ว ด้วยหน้าที่รับผิดชอบของผู้เป็นกวี...ดั่งนี้..! “ห้วงขณะอันแสนสั้น โอ...ช่างมหัศจรรย์ เราทำร้ายกันและกัน ยาวนาน”