จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้หลายโรงเรียนปิดการเรียนการสอน จากการเรียนรู้ในห้องเรียน เปลี่ยนเป็นวิธีออนไลน์หรือแจกใบงานแทน
ที่นี่ หมู่บ้านอุ้มผางคี ซึ่งตั้งอยู่ค่อนไปทางทิศตะวันออกของตัวอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก บริเวณโดยรอบประกอบไปด้วยหมู่บ้านของชนเผ่ามากมายหลายหมู่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวปกาเกอะญอ ที่ได้ดำรงชีวิตอยู่อาศัยกันมายาวนานหลายชั่วอายุคน มีวัฒนธรรมและภาษาเป็นของตนเอง หมู่บ้านอุ้มผางคี ห่างจากโรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม ซึ่งตั้งอยู่ในตัวอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ราว 16 กิโลเมตร เด็กๆส่วนใหญ่ เรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาตาก เด็กบางคนเรียนอยู่หอพักนอน ไม่กลับไปยังหมู่บ้าน เพื่อที่จะได้เรียนออนไลน์ รับสัญญาณอินเตอร์เน็ตจากโรงเรียน แต่เด็กๆในหมู่บ้านนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองไม่อยากให้ลูกเข้าไปอยู่ที่ตัวอำเภอ เนื่องจากห่วงเรื่องความปลอดภัย กลัวติดเชื้อโรคระบาดโควิด-19 และเพื่อความสบายใจของคนในหมู่บ้าน การอยู่ท่ามกลางป่าเขาลำเนาไพร ห่างไกลเมืองแบบนี้ ทำให้พ่อแม่เกิดความสบายใจได้มากทีเดียว
แต่ในเรื่องของการจัดการเรียนการสอนนั้น คุณครูโรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม ใช้วิธีการแจกใบงานในบางวิชา และการเรียนออนไลน์ผสมผสานการเรียนรู้ ทำให้ในทุกๆวันจันทร์-วันศุกร์ เด็กๆในหมู่บ้าน จะรวมตัวกันเดินทางไปสู่ยอดเขาชื่อว่า “บอเหน่อแฉะเบล้อ” มีความหมายว่า กระทิงแทงปลวก ซึ่งเป็นจุดรับสัญญาณได้เพียงแห่งเดียวในหมู่บ้าน ใช้เวลาเดินระยะทาง 5 กิโลเมตร เพื่อไปนั่งเรียนออนไลน์ที่นั่น มีเพิงเล็กๆ พอกันความร้อนจากดวงอาทิตย์ และป้องกันน้ำฝนยามที่ฝนตก รวมทั้งร่วมกันช่วยเหลือการเรียน จากพี่ชั้นโตกว่า ก็ช่วยสอนน้องในชั้นเล็กกว่า ใครเข้าใจวิชาไหน ก็ร่วมกันอธิบายเรียนรู้ไปด้วยกัน จากนั้นเวลาเย็นก็รวมตัวกันเดินทางกลับมาสู่หมู่บ้านช่วงการเรียนแบบนี้ เด็กๆ ได้เดินทางสัมผัสธรรมชาติ ที่สวยงาม และใช้ความพยายามและอุตสาหะในการเล่าเรียนศึกษาแต่ละวัน สิ่งที่เด็กๆได้นอกจากวิชาความรู้นั้น ความรับผิดชอบ มีวินัย มีน้ำใจ อดทน และแบ่งปัน เด็กๆก็จะได้เรียนรู้ในชีวิตจริงไปด้วยกัน และนี่คือการเรียนออนไลน์ในยุคโควิด-19 จากยอดเขา ลำเนาไพร (ขอขอบคุณภาพจาก facebook : Arda Kanokon /บอกเล่าเรื่องราว : ครูพีระพล อยู่รัศมี รร.อุ้มผางวิทยาคม /เนื้อข่าว : ฤทัยกัญญา ชูทอง นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ สพม.ตาก)