กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงความสำเร็จโครงการ DBD Service x Logistics Startup 2021 เชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างธุรกิจ Startup ด้านบริหารจัดการคลังสินค้ากับ SME โดยสามารถยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจแก่ผู้ประกอบการในประเภทต่างๆกว่า 500 รายทั่วประเทศช่วยลดต้นทุน ลดเวลา และค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจได้มากโข
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา กรมฯ ได้เปิดรับสมัครผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการยกระดับธุรกิจผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยีโลจิสติกส์ที่ทันสมัย เพื่อเข้าร่วมโครงการ DBD Service x Logistics Startup หรือโครงการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างธุรกิจ Startup และ SME ตั้งเป้าให้เกิดการพัฒนาศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ และเสริมสร้างโอกาสทางการตลาดโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม อีกทั้งยังช่วยสร้างโอกาสการเติบโตให้กับธุรกิจ Startup ในด้านบริหารจัดการคลังสินค้าและขนส่ง (Logistics) จำนวน 10 รายที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและหน่วยงานพันธมิตรประกอบด้วย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa),สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA),สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (TTSA), สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.),บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.),สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
“Logistic Startup จำนวน 10 ราย ที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการได้แก่ Meow Logis, Sokochan,Ship Space, Shipyours,Cloudcommerce,Siam Outlet,Akita Fulfillment, Shippop,MyCloud Fulfillment และ Trustbox ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ได้มีโอกาสในการเจรจาทางธุรกิจ และได้มอบสิทธิประโยชน์และโปรโมชันพิเศษให้แก่ผู้ประกอบการ SME ที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้เกิดการเติบโตและพัฒนาร่วมกัน โดยสิทธิประโยชน์หลักๆที่ SME ได้รับมีตั้งแต่ส่วนลดค่าบริการจาก Logistics Startup การแก้ไขปัญหาการขนส่งและการจัดการคลังสินค้าด้วยนวัตกรรมการขนส่งและการบริหารคลังสินค้าที่ทันสมัย รวมถึงสามารถขอรับการสนับสนุนประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อช่วยธุรกิจ จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa ภายใต้มาตรการ depa mini Transformation Voucher เป็นต้น
สำหรับโครงการ DBD Service x Logistics Startup 2021 มีผู้ประกอบการ SME สนใจสมัครเข้าร่วมจากทั่วประเทศ ครอบคลุมกลุ่มธุรกิจทุกประเภท อาทิ ผู้ประกอบการโรงงานผลิต ผู้จัดจำหน่าย ธุรกิจนำเข้า แฟรนไชส์ การเกษตร E-Commerce อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ความงาม สุขภาพ เสื้อผ้าและเครื่องประดับ เทคโนโลยี ตลอดจนผลิตภัณฑ์ชุมชน และอื่นๆกว่า 500 ราย โดยผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมที่ SME ได้รับจากกิจกรรมของโครงการคือ ได้พัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจและเพิ่มโอกาสทางการตลาดผ่านการพัฒนาระบบสต๊อค คลังสินค้า และระบบจัดส่ง ทำให้กิจการสามารถลดต้นทุน ลดเวลา และลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจในที่สุด