บอร์ดโรคติดต่อแปดริ้ว ลงพื้นที่ดูคลัสเตอร์โรงงานต้นแบบ ที่ปรับตัวแก้สถานการณ์ฝ่ากระแสการระบาดของโรคโควิด 19 ภายในโรงงานขนาดใหญ่ตามมาตรการ 4 แผนของทาง จ.ฉะเชิงเทรา ที่กำหนดบังคับไว้อย่างเข้มงวด ก่อนกลับมาเดินสายการผลิตช่วยต่อท่อลมหายใจให้ห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์ขยับได้อีกครั้ง วันที่ 17 ส.ค.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ฉะเชิงเทรา ได้เดินทางลงดูพื้นที่จริงในการปรับตัวของโรงงาน ซึ่งเคยเป็นคลัสเตอร์การระบาดของโรคโควิด 19 ขนาดใหญ่ และมีคนงานติดเชื้อมากถึงกว่า 700 คน จากคนงานทั้งหมดกว่า 4,200 คน ที่มีการเสนอแผนและปฏิบัติตามเงื่อนไขในการขอกลับมาเปิดไลน์การผลิตอีกครั้ง จากการยื่น 4 มาตรการตามแผนเผชิญเหตุ รวมถึงการทำ “Bubble and seal” ตามที่ทางคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ฉะเชิงเทรา กำหนด ยังที่โรงงานของ บริษัทไทยแอโรว์ จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 79 ม.4 ต.เสม็ดใต้ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ เกี่ยวกับการผลิตสายไฟและอุปกรณ์ส่วนควบเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าภายในรถยนต์ป้อนให้แก่โรงงานผู้ผลิตยานยนต์ทั้งภายในประเทศ และส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยนักลงทุนชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาก่อตั้งโรงงานในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา มานานถึงกว่า 30 ปี ซึ่งภายในมีอาคารโรงงาน 4 หลัง ได้มีการจัดทำแผน 4 แผน คือ แผนคน มีการให้ความรู้แก่พนักงานถึงวิธีการป้องกันโรค แผนองค์กร การปรับสถานที่ให้เหมาะสมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคภายในโรงงาน การเว้นระยะห่างของคนงานขณะทำงาน และการรับประทานอาหาร รวมทั้งแผนการเคลื่อนย้ายขนส่งพนักงาน โดยได้มีการเช่าที่พักไว้ให้สำหรับพนักงานที่ต้องเดินทางข้ามจังหวัด และมี รปภ.เฝ้าระวังอยู่ตลอดเวลา ขณะที่การเตรียมแผนเผชิญเหตุหากพบผู้ติดเชื้อ ได้มีการจัดเตรียมโรงพยาบาลสนาม และสถานที่กักตัวสำหรับผู้มีความเสี่ยงสูงเอาไว้ภายในโรงงานแล้ว หลังจากครบกำหนดจากมติของคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ฉะเชิงเทรา ที่สั่งให้ปิดโรงงานเป็นเวลา 14 วันมาแล้วนั้น ทางโรงงานได้ขอให้พนักงานจำนวน 1,050 คน ซึ่งเป็นพนักงานที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงต่ำเข้ามาทำงานในโรงงาน โดยมีการทำ Bubble and seal ตามที่ทางจังหวัดกำหนดไว้ ด้วยการให้พนักงานทำงานและพักอาศัยอยู่แต่ภายในโรงงาน โดยมีการจัดเตรียมอาหารไว้ให้ทั้ง 3 มื้อ พร้อมด้วยสวัสดิการต่างๆ หลังการดำเนินตามแผนทั้ง 4 แผนรวมทั้งการทำ Bubble and seal ที่มีความรัดกุมเป็นไปได้ด้วยดี สามารถลดการแพร่ระบาดของโรคได้ จึงทำให้ทางโรงงานได้เตรียมที่จะขอให้พนักงานส่วนที่เหลือได้กลับเข้ามาทำงานได้ เพื่อให้กระบวนการผลิตเดินหน้าต่อไปได้ ด้าน นพ.กสิวัฒน์ ศรีประดิษฐ์ รองนายแพทย์สาธารณสุข จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ทางโรงงานไทยแอโรว์ มีความตั้งใจในการทำตามแผนการป้องการการแพร่ระบาดของโรคที่วางไว้อย่างเป็นระบบ ตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ไว้ค่อนข้างดีมากแล้ว ในที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ฉะเชิงเทรา ในวันนี้จึงได้มอบหมายให้คณะกรรมการลงพื้นที่เข้ามาสำรวจดูความพร้อมอีกครั้ง หลังจากทางโรงงานได้มีแผนที่จะขอนำพนักงานในกลุ่มเสี่ยงต่ำ ส่วนที่เหลือทั้งหมดกลับเข้ามาทำงานเพิ่มเติม หลังการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมดูในสถานที่จริงภายในโรงงานแล้ว ได้ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่ทางโรงงาน เพื่อนำไปปรับปรุงจนเกิดความแน่ใจได้ว่า ทางโรงงานจะสามารถดูแลพนักงานในส่วนที่เหลือให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิด 19 ได้ หากคนงานกลับเข้ามาทำงานเพิ่มจำนวนมากขึ้น นพ.กสิวัฒน์ กล่าว ขณะที่ นายสุชาติ กุลเจริญ กรรมการบริษัทไทยแอโรว์ จำกัด กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ในโรงงานล่าสุดว่า ในวันนี้ยังคงมีพนักงานที่เป็นผู้ติดเชื้ออยู่ระหว่างทำการรักษาอยู่จำนวน 171 ราย มีพนักงานอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูงจำนวน 89 คน ทางโรงงานได้จัดหาที่พักให้แล้ว โดยยังมีพนักงานเสี่ยงต่ำอีกจำนวน 2,600 คน จึงได้เตรียมให้พนักงานที่มีความเสี่ยงต่ำกลับเข้ามาทำงานตามความสมัครใจ โดยที่ทางโรงงานจะจัดหาที่พักพร้อมด้วยสวัสดิการไว้ให้อย่างเหมาะสม ซึ่งพนักงานที่สมัครใจจะกลับเข้ามาทำงาน ทางโรงงานจะทำการตรวจเชิงรุกด้วยชุดตรวจ ATK ทุกคนแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ก่อนที่จะกลับเข้ามาทำงาน โดยในส่วนของพนักงานที่ต้องเดินทางข้ามจังหวัด ทางโรงงานจะทำการตรวจด้วยชุด ATK แบบสุ่มตรวจในทุกๆ 7 วัน ในอัตราร้อยละ 20 ของจำนวนพนักงานที่กลับเข้ามาทำงานทั้งหมด นายสุชาติ กล่าว จากนั้นทางคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ฉะเชิงเทรา ได้เดินทางเข้าไปตรวจดูยังสถานที่สำหรับกักตัว และ รพ.สนาม ซึ่งอยู่ภายในบริเวณโรงงาน โดยมีทีมแพทย์และพยาบาลจำนวน 15 คน ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาคอยดูแลผู้ป่วยตลอด 24 ชม. ในรูปแบบ Factory Isolation เพื่อให้พนักงานและชุมชนรอบข้างเกิดความมั่นใจต่อมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ภายในโรงงานแห่งนี้