เมื่อวันที่ 16 ส.ค.64 ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวในงานแถลงจุดยืนลดภาระทางการศึกษา ช่วยเหลือบรรเทา “ครู-นักเรียน-ผู้ปกครอง” ถ้วนหน้า โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เข้าใจถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดการเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์โควิด-19 เป็นอย่างดี ดังนั้น เพื่อให้ครูมีเวลาจัดการเรียนการสอน และมีเวลาดูแลนักเรียน และนักศึกษาได้อย่างเต็มที่ สอศ. จึงได้วางแผนจัดทำแนวทางลดภาระครู นักเรียน และนักศึกษา ในการเรียนการสอน 3 รูปแบบ คือ Online, Onsite และผสมสาน ส่วนในพื้นที่สีแดง จำเป็นต้องเรียน Online ตลอดภาคเรียนนี้ ทำให้ต้องปรับการเรียนในภาคเรียนนี้เป็นการเรียนวิชาทฤษฎี หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดีขึ้นแล้ว ในภาคเรียนต่อไปจะเรียนวิชาปฏิบัติ
สำหรับแนวการวัดประเมินผลเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จะขยายเวลาจากการวัดประเมินผลใน 1 ภาคเรียนการศึกษา เป็น 1 ปีการศึกษา
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่อว่า ในการเรียนการสอนแบบทวิภาคี หรือฝึกงานที่สถานประกอบการ จะต้องบูรณาการร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย ได้แก่ 1.สถานประกอบการจะต้องมีมาตรการเข้มงวดในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 2.ผู้ปกครองจะต้องยินยอมให้บุตร หลาน ฝึกงานในสถานประกอบการ และ 3.นักเรียน นักศึกษา พร้อมใจในการฝึกงานที่สถานประกอบการ หากไม่เป็นไปตามทั้ง 3 ข้อ สอศ. จะจัดสถานที่จำลองในการฝึกงานซึ่ง “เด็กทุกคนต้องได้เรียน และมีคุณภาพ”
สำหรับการลดภาระของผู้ปกครอง สถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน จะจ่ายเงินเยียวยาผู้ปกครอง ภายใน 7 วัน ตามแนวทางของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ