ปรับการเรียน-สอนให้ยืดหยุ่น ลดความเครียดเด็ก ย้ำแม้สถานการณ์จะยากลำบากแต่การเรียนรู้ต้องไม่หยุดนิ่ง
เมื่อวันที่ 16 ส.ค.64 กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แถลงข่าว “จุดยืนลดภาระทางการศึกษา” เพื่อชี้แจงแนวทางการช่วยเหลือนักเรียน ครู และผู้ปกครอง ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ตามมาตรการลดภาระทางการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานผ่านระบบออนไลน์ มีน.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ, คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ รวมทั้งนายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ., นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการ กอศ. และนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. ร่วมชี้แจงมาตรการช่วยเหลือที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องโถงอาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ พร้อมทั้งถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ ให้สาธารณชนได้รับทราบทั่วประเทศ
สำหรับประเด็นสำคัญ เพื่อย้ำถึงการช่วยเหลือบรรเทา “ครู-นักเรียน-ผู้ปกครอง” พร้อมจ่ายเงิน #เยียวยานักเรียน คนละ 2,000 บาท ถึงมือผู้ปกครอง ประมาณ 5-7 วัน หลังจากกระทรวงการคลังจัดสรรการโอนเงินให้หน่วยงาน โดย
- สพฐ. โอนเงินเข้าบัญชีผู้ปกครอง ตั้งแต่วันที่ 5 เป็นต้นไป
- สอศ. ผู้ปกครองรับเงินสด ที่วิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ 5 เป็นต้นไป
- สช. ผู้ปกครองรับเงินสด ที่โรงเรียน หรือรับเข้าบัญชี ตั้งแต่วันที่ 7 เป็นต้นไป
- กศน. ผู้ปกครองรับเงินสด จาก กศน.อำเภอ หรือ ศชช. ตั้งแต่วันที่ 7 เป็นต้นไป
น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความยากลำบากในการจัดการเรียนการสอน และการใช้ชีวิตในสถานการณ์โควิด 19 ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวเป็นครั้งใหญ่ไปพร้อมกัน เพื่อให้การศึกษาหรือการเรียนรู้ยังคงสามารถเกิดขึ้นได้ ภายใต้แนวคิดที่ว่า “ผู้เรียนจะต้องไม่พลาดโอกาสในการเรียนรู้” และจากการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 ก.ค.64 ได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติงบประมาณเป็นกรณีพิเศษเพื่อสนับสนุนเยียวยาและลดผลกระทบทางการศึกษา ให้กับสถานศึกษา ครูผู้สอน นักเรียน และผู้ปกครอง โดยอนุมัติงบประมาณเป็นวงเงิน 22,000 ล้านบาท ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นหลักดังนี้
1. การจ่ายเงิน “เยียวยานักเรียน” ทุกคน ทุกสังกัด คนละ 2,000 บาท โดยผู้ปกครองรับเงินเต็มจำนวน ต่อนักเรียน 1 คน โดยไม่หักค่าใช้จ่ายใด ๆ ให้แก่นักเรียนนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาสังกัด ศธ.ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถานศึกษานอกสังกัด ศธ. ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่ชั้นอนุบาล-ม.6 และอาชีวศึกษา ซึ่งมีราว 11 ล้านคน รวมทั้งสิ้น 22,000 ล้านบาท คาดจะได้รับภายในวันที่ 31 ส.ค.ถึงต้นเดือนก.ย.นี้
2. ลดช่องว่างการเรียนและผลกระทบความรู้ที่ขาดหายไป โดยให้สถานศึกษายืดหยุ่นการใช้เงินงบประมาณตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ทั้งค่าเล่าเรียน หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนานักเรียน เพื่อให้สามารถใช้งบประมาณส่วนที่จำเป็นในสถานการณ์โควิด 19 ให้เหมาะสม
3. ให้งบประมาณช่วยเหลือสนับสนุนการพัฒนาการศึกษา เพื่อให้ครูและบุคลากรได้นำไปใช้พัฒนากระบวนการเรียนการสอนให้หลากหลาย รวมถึงค่าพาหนะ การดูแลเข้าถึงนักเรียน และค่าอินเทอร์เน็ตสำหรับการเรียนออนไลน์
นอกจากนี้ ศธ. ยังได้รับความร่วมมือจาก ดส. และ กสทช.ที่ได้สนับสนุนค่าอินเทอร์เน็ตฟรีให้กับนักเรียน เป็นเวลา 2 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.– 15 ต.ค.64 ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการอนุเคราะห์เพิ่มเติมในภาคเรียนที่ 2 ต่อไปเพื่อเป็นการเรียนรู้ของเด็กที่ต่อเนื่อง
ในส่วนของขั้นตอน ภารกิจ การกระจายเงินเยียวยาของนักเรียน ศธ.จะได้รับเงินจากกระทรวงการคลัง ส่งต่อไปยังผู้ปกครองนักเรียนนักศึกษาทุกคนอย่างเร่งด่วน โดยตั้งเป้าหมายว่าทุกคนจะได้รับเงินภายใน 7 วัน หลังจากที่เงินถึง ศธ. รวมทั้งจะมีการตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน เพื่อช่วยเหลือผู้ปกครอง หากยังไม่ได้รับเงินดังกล่าวทันท่วงที
ขณะเดียวกันยังปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนการวัดผลที่มีความยืดหยุ่น เพื่อลดความเครียดให้กับผู้เรียน ผู้สอน รวมถึงผู้ปกครอง และยังคงสนับสนุนให้การเรียนรู้และการสอนสามารถเดินต่อไปได้ แม้จะเกิดสถานการณ์ที่ยากลำบาก การเรียนรู้ต้องไม่หยุดนิ่งและผู้เรียนต้องไม่พลาดโอกาสในการเรียนรู้อย่างแน่นอน