เฉวียนโจวได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกสำเร็จแล้ว! เมืองท่าที่มี “ท่าเรือใหญ่อันดับหนึ่งของตะวันออก” และขึ้นชื่อเรื่องต้นทองหลางลายทั้งในจีนและต่างประเทศสมัยราชวงศ์ซ่งและหยวนแห่งนี้ กลับมาเป็นที่จับตามองของชาวโลกอีกครั้งในช่วงกว่า 1,000 ปีให้หลัง โดยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกโลก” อย่างเป็นเอกฉันท์
ท่าเรือใหญ่อันดับหนึ่งของตะวันออกสมัยราชวงศ์ซ่งและหยวน
เฉวียนโจวตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเลทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน มีประสบการณ์การค้าต่างประเทศเป็นเวลายาวนาน โดยเฉพาะในสมัยราชวงศ์ซ่งและหยวนซึ่งพัฒนาจนถึงขีดสุด และเป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลกในชื่อว่า “ชื่อถง”หรือในภาษาไทยแปลว่า “ต้นทองหลางลา”
พร้อมไปกับการค้าต่างประเทศของเฉวียนโจวที่เจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ พ่อค้าต่างชาติจำนวนมากเดินทางมายังเฉวียนโจวเพื่อค้าขาย ในปีที่สองหยวนโย่วสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ (ค.ศ. 1087) รัฐบาลได้ตั้งสำนักงานซื่อโป๋ซือ (市舶司) บนพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำจิ้นเจียง ทางตอนใต้ของเมืองเฉวียนโจว โดยให้สำนักงานดังกล่าวบริหารการค้าต่างประเทศทางทะเลที่รัฐบาลตั้งขึ้นตามท่าเรือต่าง ๆ ในสมัยราชวงศ์ซ่งและหยวนซึ่งเทียบเท่ากับศุลกากรนั่นเอง
เรือการค้าในประเทศต้องยื่นขออนุญาตจากสำนักงานซื่อโป๋ซือก่อนออกเรือ ส่วนเรือการค้าต่างประเทศเมื่อเทียบท่าแล้วก็จำเป็นต้องผ่านพิธีทางศุลกากรและผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานก่อนด้วย การตั้งสำนักงานซื่อโป๋ซือนั้นจึงเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าเฉวียนโจวกลายเป็นเมืองท่าการค้าต่างประเทศระดับชาติที่เปิดสู่ภายนอกอย่างเป็นทางการ จากนั้นเมืองเฉวียนโจวจึงค่อย ๆ เปลี่ยนจากการทำการค้าแบบขนถ่ายสินค้ามาเป็นการค้าส่งออกและการค้าขนถ่ายสินค้าพัฒนาไปพร้อมกัน
ความเชื่อในเทพแห่งทะเลแทบเป็นดั่งเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจร่วมกันของประชาชนในพื้นที่ท่าเรือ ส่วนการยกระดับการบวงสรวงเทพแห่งทะเลให้เป็นเรื่องของรัฐและจิตสำนึกระดับชาตินั้น แสดงให้เห็นอย่างเต็มที่ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการค้าทางทะเล
เจ้าแม่มาจู่ (妈祖) หนึ่งในเทพแห่งทะเลที่สำคัญที่สุดของเฉวียนโจว ประเทศจีนรวมถึงทั่วโลก วังมาจู่ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองโบราณเฉวียนโจวสร้างขึ้นเพื่อเจ้าแม่มาจู่โดยเฉพาะ ที่ตั้งของวังมาจู่มีความสำคัญมาก เป็นทั้งจุดแรกสำหรับพ่อค้าและสินค้าจากภายนอกที่เข้าสู่เมืองเฉวียนโจว และเป็นสถานีแรกสำหรับพ่อค้าที่ต้องไปบวงสรวงเจ้าแม่มาจู่ก่อนแล้วค่อยเดินทางต่อไปยังท่าเรือปากแม่น้ำหรือท่าเรือสือหูตามแม่น้ำจิ้นเจียง แล้วจึงออกเรือไปทำการค้ายังโพ้นทะเล สถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1196 แห่งนี้ จนถึงปัจจุบันยังคงได้รับการรักษาไว้ซึ่งโครงสร้างเดิมที่สร้างขึ้นก่อนศตวรรษที่ 16 ที่มีทั้งพระตำหนักหน้าและพระตำหนักหลัง วังมาจู่แห่งนี้มีฐานะสำคัญหาที่ทดแทนไม่ได้ในเรื่องความเขื่อต่อเจ้าแม่มาจู่ไม่ว่าในเฉวียนโจวหรืแทั่วโลก
เหอ เจิ้นเหลียง นักวิจัยที่เคยทำงานในสถาบันบริหารวัฒนธรรมวังมาจู่มาหลายปี บรรยายถึงเจ้าแม่มาจู่อย่างละเอียดว่า จากหญิงสาวธรรมดาเป็นเทพธิดาจนกระทั่งได้รับตราประทับพระราชทานให้เป็น “นางสนมบนสวรรค์” และ “เจ้าแม่บนสวรรค์” วังมาจู่ได้บันทึกถึงความเคารพนับถือของทางการราชวงศ์ซ่งและหยวนที่มีต่อเจ้าแม่มาจู่ ผสมผสานศรัทธาของเอกชนกับจิตสำนึกแห่งรัฐเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว แสดงให้เห็นว่ารัฐส่งเสริมการค้าทางทะเลเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ เนื่องจากประชาชนชาวเฉวียนโจวได้อพยพไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนเขตไต้หวัน ฮ่องกง และมาเก๊า เดินทางและทำการค้าขายยังโพ้นทะเลมากยิ่งขึ้น ความศรัทธาต่อเจ้าแม่มาจู่จึงแพร่กระจายจากเฉวียนโจวไปยังพื้นที่ดังกล่าวอย่างกว้างขวาง จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าวังมาจู่ในเฉวียนโจวเป็นสักขีพยานทางประวัติศาสตร์ของความศรัทธาต่อเทพแห่งทะเลอันมีเอกลักษณ์นี้
ระบบที่ใช้งานได้ดีและมีประสิทธิภาพนั้นเป็นแรงขับเคลื่อนอันทรงพลังต่อการค้าข้ามมหาสมุทร ตลอดจนเป็นหลักประกันการรักษาความเจริญรุ่งเรืองในระยะยาวของการค้ากับต่างประเทศที่เฉวียนโจวด้วย
******
ระบบเศรษฐกิจการค้าทางทะเลที่รวมการผลิต การขนส่ง และการค้าเป็นหนึ่งเดียว
ในฐานะท่าเรือใหญ่อันดับหนึ่งของตะวันออกที่เลื่องชื่อไปทั่วโลกสมัยราชวงศ์ซ่งและหยวน รวมถึงจุดเริ่มต้นของเส้นทางสายไหมทางทะเลในประเทศจีนนั้น เฉวียนโจวมีระบบเศรษฐกิจการค้าทางทะเลที่รวมการผลิต การขนส่ง และการค้าเข้าไว้เป็นหนึ่งเดียวอย่างมีเอกลักษณ์ เนื่องจากระบบนี้เข้มแข็ง จึงสร้างความรุ่งโรจน์ให้เฉวียนโจวทั้งในด้านการค้าทางทะเลและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในสมัยนั้น
ตั้งแต่ศตวรรษที่ 10 เป็นต้นมา เครื่องเคลือบได้รับความนิยมทั่วโลก กลายเป็นคำแทนของจีนที่เรียกว่า “ไชน่า”(China) นั่นเอง การพัฒนาการค้าต่างประเทศของเฉวียนโจวได้ผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบหรือเซรามิกในพื้นที่เป็นอย่างมาก ช่วงระหว่างศตวรรษที่ 10 ถึ 14 ทั้งภายในและนอกเมืองเฉวียนโจวมีโรงเผาเซรามิกมากมายกระจายอยู่ ปัจจุบันพบซากเตาเผาเซรามิกที่ส่งออกไปยังต่างประเทศกว่า 150 แห่ง โดยเตาเผาที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ได้แก่เตาเต๋อฮว่าและเตาฉือเจ้า
เต๋อฮว่าห่างจากเมืองโบราณเฉวียนโจวกว่า 130 กิโลเมตร เป็นหนึ่งในต้นกำเนิดวัฒนธรรมเครื่องเซรามิกของจีน มีฐานะสำคัญทางประวัติศาสตร์เซรามิกองจีน เซรามิกขาวเต๋อฮว่าเป็นสินค้าส่งออกสำคัญบนเส้นทางสายไหมทางทะเลในสมัยโบราณ จนได้รับฉายาว่า “ไชน่าขาว” จากประเทศตะวันตก สมัยราชวงศ์ซ่งและหยวนเป็นยุคทองของการพัฒนาอุตสาหกรรมเตาเผาที่เต๋อฮว่า ผลิตภัณฑ์มีตลาดโพ้นทะเลเป็นหลัก ส่งออกไปยังหลายประเทศและเขตการปกครองทั้งในเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียยังตะวันตก ตลอดจนแอฟริกาตะวันออก กลายเป็นฐานผลิตเซรามิกส่งออกต่างประเทศสำคัญบนพื้นที่ริมฝั่งทะเลทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีนที่ “รองรับการจำหน่ายยังต่างประเทศเป็นหลัก และในประเท ศเป็นรอง”ช่วงระหว่างศตวรรษที่ 10 ถึง 14 เมื่อเดินอยู่บริเวณกลุ่มซากเตาเผาเต๋อฮว่าจะมองเห็นเศษเครื่องเซรามิกขนาดเท่าเล็บมือกระจายอยู่ทั่วทุกมุม ซึ่งย้ำเตือนอย่างเงียบ ๆ ว่า ที่นี่เคยเป็นฐานการผลิตเซรามิกส่งออกไปยังต่างประเทศใหญ่ที่สุดของจีน
เครื่องเหล็กเป็นอีกหนึ่งสินค้าส่งออกสำคัญของเฉวียนโจว เสิ่น รุ่ยเหวิน รองผู้อำนวยการสถาบันโบราณคดีแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง นำคณะขุดค้นทางโบราณคดีพบซากเหล็กหลอมในสมัยราชวงศ์ซ่งและหยวนบริเวณที่ราบเซี่ยเฉ่าผู้ หมู่บ้านชิงหยาง อำเภอันซี หมู่บ้านชิงหยางเคยเป็นหนึ่งในโรงงานหลอมเหล็กโดยเฉพาะที่สร้างขึ้นโดยทางการราชวงศ์ซ่ง อุตสาหกรรมหลอมเหล็กของที่นี่เจริญที่สุดในศตวรรษที่ 11 ผลิตภัณฑ์จะถูกขนส่งจากหมู่บ้านชิงหยางไปยังเฉวียนโจวผ่านแม่น้ำซีซี สาขาของแม่น้ำจิ้นเจียง เสิ่น รุ่ยเหวิน กล่าวว่า การผลิตหม้อเหล็กที่ใช้ยายในต่างประเทศเป็นส่วนสำคัญของการหลอมเหล็กช่วงราชวงศ์ซ่ง โดยเรือ “หนานไห่ หนึ่ง” อันเลื่องชื่อ เป็นเรือสนค้าข้ามมหาสมุทรที่ออกจากเฉวียนโจวนั่นเอง
การค้าทางทะเลของเฉวียนโจวซึ่งพัฒนาอย่างต่อเรื่องและราบรื่นนั้นเป็นผลมาจากเครือข่ายการคมนาคมขนส่งที่ไปถึงทุกทิศทาง ท่าเรือสือหูและเจดีย์ลิ่วเซิ่งในบริเวณโดยรอบ เป็นอีกส่วนประกอบสำคัญของระบบการขนส่งทางน้ำและทางบกของท่าเรือเฉวียนโจวในสมัยราชวงศ์ซ่งและหยวน
ท่าเรือสือหูเริ่มใช้งานตั้งแต่ปีที่ 8 ไคหยวนของราชวงศ์ถัง ก่อสร้างโดยหลิน หลวน พ่อค้าทางทะเลของเฉวียนโจว เขาสืบทอดธุรกิจการเดินเรือและการค้ามาจากบรรพบุรุษ โดยสร้างท่าเรือและโรงต่อเรือหลายแห่งบนพื้นที่ต่าง ๆ ริมฝั่งทะเลในอ่าวเฉวียนโจวและอ่าวเหวยโถว เปิดเส้นทางเดินเรือจากเฉวียนโจวไปยังโป๋หนี (แถบตอนเหนือของเกาะกาลิมันตันและบรูไน) ทั้งยังสั่งซื้อเครื่องเทศจากแหล่งผลิตได้โดยตรงและได้กำไรที่สูงมาก จนสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเดินเรือและการค้าต่างประเทศในพื้นที่ริมฝั่งทะเลโดยรอบ
เจดีย์ลิ่วเซิ่งซึ่งตั้งอยู่บริเวณท่าเรือและเจดีย์ว่านโซ่ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาเป่าก้ายห่างจากเมืองเฉวียนโจวไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 20 กม. ล้วนเป็นจุดหมายตาทางการเดินเรือในสมัยนั้น เจดีย์ว่านโซ่สร้างขึ้นเพื่อให้เรือจากนอกประเทศเมื่อมองเห็นจะทราบว่ามาถึงอ่าวเฉวียนโจวแล้ว ส่วนเจดีย์ลิ่วเซิ่งเป็นเครื่องหมายบ่งบอกทิศทางสำหรับเรือสินค้าให้เดินทางเข้าเส้นทางหลักของอ่าวเฉวียนโจวต่อไปยังท่าเรือของแม่น้ำภายใน
หลังสินค้าถูกส่งขึ้นฝั่งที่ท่าเรือสือหูและท่าเรือเจียงโข่ว แล้วจะถูกคัดแยกกระจายไปในเมืองโบราณเฉวียนโจว หากจะขนส่งไปยังพื้นที่ภาคเหนือ เช่น เมืองฝูโจวรวมทั้งมณฑลเจียงซู และเจ้อเจียง ก็ต้องผ่านสะพานลั่วหยาง สะพานหินแห่งนี้สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1059 ปัจจุบันยังคงใช้งานได้แต่ภายใต้การอนุรักษ์โบราณสถาน จึงอนุญาตให้เพียงเดินผ่านไปมาเท่านั้น
ขีดความสามารถในการผลิตสินค้าส่งออกอันเข้มแข็ง เครือข่ายการคมนาคมที่ผสมผสานทั้งทางทะเลและทางบก ก่อเกิดเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ ค้ำจุนระบบเศรษฐกิจการค้าทางทะเลที่รวมเอาการผลิต การขนส่ง และการค้าเข้าไว้เป็นหนึ่งเดียวกันของเฉียนโจว
*******
วัฒนธรรมหลากหลายที่เปิดกว้างและผสมผสาน
ถนนถูเหมินของเมืองเฉวียนโจว จากทิศตะวันตกสู่ตะวันออก ต่างมีศาลเจ้าเหวินเมี่ยวที่เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมขงจื่อ และมัสยิดที่เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมอิสลามตั้งอยู่ นอกจากนี้ยังมีบ้านเรือนเก่าของชาวจีนโพ้นทะเลจากศรีลังกาและศาลเจ้ากวนอูที่เป็นตัวแทนศรัทธาของผู้คน ตลอดช่วงพันปีมานี้ ศรัทธาต่อศาสนาต่าง ๆ ผสมผสานกันอย่างลงตัวบนถนนสายเดียวกัน ทั้งนี้แสดงถึงความเปิดกว้าง ผสมผสาน และหลากหลายของวัฒนธรรมเฉวียนโจวนั่นเอง
มัสยิดชิงจิ้งเป็นหนึ่งในมัสยิดเก่าแก่ที่สุดซึ่งยังคงถูกรักษาไว้อยู่ของจีนในปัจจุบัน เป็นหลักฐานทางวัตถุหายากของนักธุรกิจชาวมุสลิมรวมทั้งพรรคพวกจากเปอร์เซียและอาหรับที่ข้ามมหาสมุทรมาทำการค้าที่เฉวียนโจวในสมัยราชวงศ์ซ่งและหยวน เจิง กั๋วเหิง หัวหน้าทีมบริการอาสาสมัครโบราณวัตถุเมืองเฉวียนโจว บรรยายหนังสือป้ายอาหรับที่ตั้งอยู่บนประตูโค้งแหลมของซุ้มมัสยิดว่า หนังสือป้ายได้บันทึกอย่างชัดเจนว่า ที่นี่เป็นมัสยิดแห่งแรกในเฉวียนโจว เริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่ค.ศ. 1009 (ปี 400 ตามปฏิทินของชาวมุสลิม)ผ่านการบูรณะซ่อมแซมมาทุกสมัย รูปทรงของซุ้มประตูนี้เป็นแบบมัสยิดเอเชียตะวันตก แต่ก็ผสมผสานปัจจัยทางการก่อสร้างแบบดั้งเดิมของจีนเอาไว้ด้วย อย่างเช่นมีสไตล์การประดับ “เจ่าจิ่ง”(藻井) หรือ “เพดานกระสุน”และการใช้ “ชั่วที่”(雀替) หรือ “ไม้ยก”ซึ่งล้วนแต่เป็นสไตล์จีนอย่างชัดเจน สะท้อนถึงวัฒนธรรมอันหลากหลายที่แลกเปลี่ยนผสมผสานกันในเฉวียนโจว
คู่สามีภรรยาจาง เหลียนจูดูแลมัสยิดมาตลอดช่วง 30 ปีมานี้ พวกเขากล่าวว่าชาวมุสลิมทุกรุ่นใช้ชีวิตรอบ ๆ มัสยิดจึงก่อเกิดเป็นชุมชนมุสลิมที่มีเอกลักษณ์ขึ้น ทุกวันนี้ ชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่รอบๆมัสยิดยังคงสืบทอดขนบธรรมเนียมประเพณีอิสลาม ยังคงรักษากิจกรรมต่าง ๆ เพื่อฉลองเทศกาลอีดิลอัฎฮาเทศกาลกุรบ่าน และเทศกาลเมาลิดินนะบี ทั้งนี้ได้เรียกความสนใจจากชาวมุสลิมทั้งในจีนและต่างประเทศให้มาเยี่ยมชม
ที่วัดไคหยวน เอกลักษณ์ของเฉวียนโจวซึ่งมีวัฒนธรรมอันเปิดกว้างและหลากหลายอยู่ร่วมกันได้รับการพิสูจน์ให้เห็นอีกครั้ง วัดไคหยวนเป็นวัดในพุทธศาสนาขนาดใหญ่ที่สุดและมีฐานะทางการโดดเด่นที่สุดในเฉวียนโจวสมัยราชวงศ์ซ่งและหยวน ที่นี่มีโบราณสถานในศาสนาฮินดูมากมาย บัลลังก์ในพระวิหารใหญ่มีเอกลักษณ์พิเศษมาก โดยเฉพาะในส่วนตรงเอวมีหินแกะสลักรูปสิงโตและหน้าคนร่างสิงโตจำนวน 73 ชิ้น มีสไตล์คล้ายคลึงกับหินแกะสลักรูปหน้าคนร่างสิงโตในวัดของศาสนาฮินดูเป็นอย่างมาก ซื่อเต๋อหย่วน พระในวัดไคหยวน กล่าวว่า บัลลังก์นี้ถูกย้ายมาจากวัดของศาสนาฮินดูที่เสียหายในช่วงปลายราชวงศ์หยวนระหว่างการซ่อมแซมวัดไคหยวนของราชวงศ์หมิง ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่าในสมัยศตวรรษที่ 13 นั้น เฉวียนโจวเคยสร้างวัดฮินดู แต่ในพื้นที่อื่น ๆ ของจีน แทบไม่มีโบราณสถานของศาสนาฮินดูหลงเหลืออยู่เลย นอกจากนี้ระหว่างการบูรณะซ่อมแซมพระวิหารใหญ่ในศตวรรษที่ 17 วัดพุทธ์ของจีนที่พัฒนาอย่างสมบูรณ์แห่งนี้ได้ใช้โครงสร้างแบบศาสนาฮินดู ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่หาได้ยากมาก
ด้านหลังของพระวิหารมีเสาหินสองต้น ซึ่ใช้สิ่งของที่หลงเหลือจากวัดฮินดู ซือเต๋อหย่วนกล่าวชี้ว่า ในตัวเสาหินมีรูปแกะสลักนูนต่ำ 24 ภาพ ในจำนวนนี้ 9 ภาพบันทึกนิทานเทพนิยายในสมัยโบราณของศาสนาฮินดู เช่น พระอิศวรปางยืน และพระวิษณุทรงครุฑ ส่วนงานแกะสลักอื่นเป็นลายมงคลและลายดอกหญ้าแบบดั้งเดิมในสมัยโบราณของจีน นอกจากนี้ตามผลการวิจัยรูปทรงของหัวเสาหินและท่วงทำนองของลวดลายหินแกะสลัก ล้วนสะท้อนถึงการประยุกต์ต้นฉบับที่มาจากอินเดีย แสดงถึงการแลกเปลี่ยนและผสมผสานทางวัฒนธรรมภายนอกกับวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้าไว้ด้วยกัน วัฒนธรรมที่ต่างกันศรัทธาที่ต่างกันแต่สามารถอยู่ร่วมกันและผสานเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัวในเฉวียนโจวรวมเป็นพลังทางวัฒนธรรมที่มิอาจทดแทนได้
จากประเพณีการเดินเรือทางทะเลที่มีมาช้านาน ระบบการค้าทางทะเลที่สมบูรณ์แบบ ระบบการคมนาคมและขนส่งที่สอกประสานทั้งทางน้ำและทางบกขนาดใหญ่ หัตถกรรมที่พัฒนาก้าวหน้า เทคนิคและทักษะการเดินเรือและต่อเรืออันยอดเยี่ยม ตลอดจนกลุ่มคนทางสังคมอันหลากหลาย … ผลงานจากปัจจัยหลายประการทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ได้ก่อร่างสร้างเฉวียนโจวขึ้นเป็นท่าเรือใหญ่ระดับโลก รวมทั้งทำให้เฉวียนโจวกลายเป็นแบบอย่างของศูนย์กลางการค้าทางทะเลระดับโลก
เขียนโดย:หลี่ ยวี่น เกา เจี้ยนจิ้น
แปลโดย:หลิวหรง
ตรวจแก้โดย :ทิม สันตสมบัติ
หมายเหตุบรรณาธิการ
วันที่ 25 กรกฎาคม ในที่ประชุมมรดกโลก ครั้งที่ 44 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศจีน โครงการยื่นขอมรดกโลกของจีน “เฉวียนโจว ศูนย์กลางการค้าทางทะเลโลกของจีนสมัยราชวงศ์ซ่งและหยวน” ผ่านการพิจารณาตรวจสอบจากที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกอย่างราบรื่น โดยได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกเป็นที่เรียบร้อย ทำให้จีนมีจำนวนมรดกโลกรวม 56 รายการ การที่โครงการเฉวียนโจวประสบความสำเร็จในการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกนั้นพิสูจน์ให้เห็นอีกครั้งถึงประวัติศาสตร์อันรุ่งโรจน์และความเชื่อมั่นดั้งเดิมในการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างจีนกับอารยธรรมประเทศต่าง ๆ บนโลก