จากกรณีที่นักวิชาการเสนอให้หยุดการเรียนการสอนทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปี เนื่องจากการเรียนออนไลน์ไร้ประสิทธิภาพ และส่งผลกระทบกับนักเรียน นักศึกษา โดยเฉพาะเด็กปฐมวัย และนักเรียนชั้นประถมอย่างมาก อีกทั้งเผยผลวิจัยชี้เด็กไทยเครียดจากการเรียนออนไลน์ ทำให้โดดเรียนออนไลน์มากกว่า 20% ขณะที่ผลสำรวจทั่วโลกระบุว่าการเรียนออนไลน์ 1 ปี ทำให้การศึกษาถดถอย 50% โดยเสนอแนะให้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องกล้าตัดสินใจ แต่ผู้บริหาร ศธ.คัดค้าน ขณะที่ผู้ปกครองส่วนหนึ่งสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว เนื่องจากลูกหลานเรียนไม่รู้เรื่อง ขณะนี้ผู้ปกครองมีความเครียด มีอาการซึมเศร้า และถูกปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้านั้น ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางวราภรณ์ ทรัพย์สมบูรณ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ และมาตรฐานคุณภาพ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ได้ลงนามในประกาศ เรื่อง ยกเลิกการสอบปลายภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ทุกระดับชั้น ใจความว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ได้สร้างความตึงเครียดให้กับสังคมโดยรวม โรงเรียนเข้าใจต่อสถานการณ์ดังกล่าวว่าได้สร้างความตึงเครียดให้กับนักเรียน ผู้ปกครอง และครู จึงได้ประเมินว่าหากมีการจัดสอบปลายภาคเรียนที่ 1 จะยิ่งสร้างความเครียดให้ทุกภาคส่วนมากขึ้น “เพื่อแบ่งเบาความเครียดในการเตรียมสอบ และบรรเทาสภาพจิตใจของทุกคนในสถานการณ์ที่เลวร้ายนี้ ทางโรงเรียนจึงขอประกาศยกเลิกการสอบปลายภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ทุกระดับชั้น และให้วันที่ 17 กันยายน เป็นวันสุดท้ายของการเรียนในภาคการศึกษานี้” หนังสือดังกล่าว ระบุ ด้าน นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าวว่า ทางโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ รายงานข้อมูลมาแล้ว เรื่องนี้ถือเป็นอำนาจของโรงเรียนในการตัดสินใจ โดยวิธีวัดและประเมินผลมีหลายรูปแบบ เช่น ใช้วิธีเก็บคะแนน และประเมินผลตามสภาพการเรียนการสอนจริง ส่วนโรงเรียนอื่นๆ จะดำเนินการเช่นเดียวกันหรือไม่นั้น ส่วนตัวคิดว่าน่าจะมี เพียงแต่ไม่ได้ประกาศ และรายงานให้ สช.รับทราบ สาเหตุที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตรียนฯ ต้องประกาศ เพราะเป็นโรงเรียนเอกชนขนาดใหญ่ มีนักเรียนหลายพันคน ช่วงใกล้สอบผู้ปกครองอาจมีความกังวลต่อผลคะแนนของลูก ดังนั้น จึงต้องเร่งประกาศให้ทราบอย่างเป็นทางการ ส่วนความคืบหน้าการดำเนินการตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียน ของคณะกรรมการควบคุมนั้น อยู่ระหว่างดำเนินการดูข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการเงินของโรงเรียน “การตัดสินใจประเมินผลการเรียนแบบใด เป็นอำนาจของโรงเรียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้วิธีสอบอย่างเดียว แต่อาจเก็บคะแนน หรือประเมินตามสภาพการเรียนที่แท้จริงได้ ส่วนข้อเสนอที่ให้หยุดเรียน 1 ปี เพราะการเรียนออนไลน์ขาดประสิทธิภาพนั้น ไม่เห็นด้วย เพราะการเรียนรู้ไม่สามารถหยุดได้ แต่ต้องมาหารือ ปรับการเรียนการสอนออนไลน์ใหม่ ปัญหาขณะนี้คือครูยังสอนแบบยึดติดกับชั่วโมงสอน เพราะมีผลต่อการประเมินวิทยฐานะ ดังนั้น คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ต้องปลดล็อกระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่บอกว่ายืดหยุ่น แต่กติกายังตงเดิม” นายอรรถพลกล่าว น.ส.ศิริวรรณ กมลศรี ผู้ปกครองนักเรียนชั้นอนุบาล 3 กล่าวว่า เนื่องจากลูกของตนยังเป็นเด็กเล็ก ทางโรงเรียนไม่ได้ใช้การเรียนออนไลน์ แต่ใช้วิธีให้แบบฝึกหัด ส่วนวิชาที่ต้องมีการฝึกทักษะการฟัง พูด เช่น ภาษาอังกฤษ ครูจะส่งคลิปวิดีโอ ให้ผู้ปกครองเปิดให้เด็กเรียน กระบวนการทั้งหมด ผู้ปกครองจะต้องอยู่กับเด็กด้วย ซึ่งส่วนตัวไม่มีปัญหา และเนื่องจากลูกยังเป็นเด็กเล็ก จึงไม่ค่อยคาดหวังในเนื้อหาสาระวิชามากนัก เพียงแค่ต้องการให้มีทักษะการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับช่วงวัย เพราะไม่อยากให้ลูกอออกไปเสี่ยงกับการติดเชื้อที่โรงเรียน ด้าน นายวิสิทธิ์ ใจเถิง ผู้อำนวยการโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) กล่าวว่า การยกเลิกสอบกลางภาค และปลายภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ไม่ใช่ประเด็นใหม่ โรงเรียนสามารถยืดหยุ่นกำหนดการวัดและประเมินผลของตนได้ อย่างโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ไม่จัดสอบกลางภาค และปลายภาค ของภาคเรียนที่ 1/2564 โดยให้สิทธิครูผู้สอนไปออกแบบการวัดและประเมินผลได้เอง เช่นเดียวกับภาคเรียนที่ 2/2564 ถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ต้องเรียนออนไลน์ต่อ โรงเรียนอาจไม่จัดสอบกลางภาค และปลายภาค แต่จะให้ครูออกแบบการวัดและประเมินผลนักเรียนเอง นายวิสิทธิ์กล่าวต่อว่า เมื่อไม่มีการสอบปลายภาคแล้ว จะส่งผลกระทบต่อการเลื่อนชั้น หรือสอบเข้ามหาวิทยาลัยหรือไม่ มองว่าการเลื่อนชั้นในระบบโรงเรียน หรือการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่มีปัญหาอะไร เพราะเป็นระบบที่เหมือนกันทั้งประเทศ แต่ในส่วนของอุดมศึกษา มองว่ามหาวิทยาลัยต้องไปออกแบบระบบให้เอื้อกับนักเรียน และสอดคล้องกับปัจจุบันด้วย เพราะปัจจุบันการเรียนการสอนพัฒนาไปไกลแล้ว “นอกจากนี้ เน้นย้ำครูตลอดว่าทุกรายวิชาต้องปรับเนื้อหาลง โดยการปรับเนื้องหาจะต้องมีคุณภาพด้วย ที่สำคัญครูต้องปรับการวัดและประเมินผลเด็กใหม่ โดยให้เอื้อกับเด็กมากที่สุด สอดคล้องกับบริบทของนักเรียนทุกคน เมื่อครูเปลี่ยนการวัดและประเมินผลให้สามารถเรียนไปด้วยวัดผลไปด้วย จะแก้ไขปัญหาเด็กไปเรียนกวดวิชาเพิ่มเติมด้วย” นายวิสิทธิ์กล่าว ส่วนกรณีที่นักวิชาการเสนอให้หยุดเรียน 1 ปี ไม่เห็นด้วย เพราะจะทำให้นักเรียนหลุดหายไปจากระบบการเรียน และไม่ต่อเนื่องในการจัดการเรียนรู้ ขอให้ข้อเสนอแนะในการจัดการเรียนของนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดังนี้ 1. จัดการเรียนภาคเรียนที่ 1/2564 ต่อไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายน ในรูปแบบ Online, On demand และ On hand) 2.จัดหา และเร่งฉีดวัคซีน mRNA ให้ครู บุคลากร และนักเรียน 3.ควรปิดเทอมตั้งแต่วนที่ 1 ตุลาคม-30 พฤศจิกายน 2564 และเปิดเรียนภาคเรียนที่ 2/2564 ตั้งวันที่ 1 ธันวาคม 2564-31 มีนาคม 2565 เพื่อให้นักเรียนได้พักการเรียนยาวขึ้น 4.จัดหาแท็บเล็ตให้นักเรียนยืมเรียน จัดหาสัญญาณอินเตอร์เน็ตฟรีให้นักเรียน 5.ปรับปรุงหลักสูตรเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิค-19 เช่น ปรับเวลาเรียนให้สั้นลง ปรับการเรียนให้เป็นหลักสูตรบูรณาการ (Integration curriculum) ทุกกลุ่มสาระ เพื่อลดการบ้าน การสั่งงาน และบูรณาการสำหรับการเรียนรู้ยุคใหม่ตามศตวรรษที่ 21 “ที่สำคัญ ควรเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส จัดทำแพลตฟร์อมการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพให้ครูได้นำไปใช้จัดการเรียนรู้ เพื่อเตรียมรับมือกรณีเปิดเรียนไม่ได้ เพราะถ้าหยุดเรียนเท่ากับหยุดพัฒนาการเด็ก เป็นการหนีปัญหา ภาระการดูแลนักเรียนทั้งหมดจะอยู่ที่ผู้ปกครอง ผมมองว่าการเรียนรู้ยุคใหม่ ไม่ได้อยู่ที่ห้องเรียนแล้ว ปัจจุบันเด็กเรียนรู้ได้รอบตัว และทั่วโลก เด็กมัธยมบางคนเข้าเรียนหลักสูตรออนไลน์ของมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ดังนั้น ศธ.ควรทลายพรมแดน ทลายกฎเกณฑ์กติกาที่มี โดยปรับเปลี่ยนเกณฑ์การวัด การสอบเทียบ หรือเทียบโอนความรู้ได้ทั่วโลก ถ้าทำได้การศึกษาไทยจะทันทั่วโลก ไม่จำกัดแค่ความรู้ในประเทศเท่านั้น ซึ่งจะทำให้การศึกษาไทยพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เมื่อใช้วิกฤตเป็นโอกาส ในการปรับการศึกษาให้เข้ากับยุคสมัย ก็ถือว่าเป็นการปฏิรูปการศึกษาโดยอัตโนมัติ” นายวิสิทธิ์กล่าว นางวรรณดี นาคสุขปาน ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กล่าวว่า ขณะนี้โรงเรียนอยู่ระหว่างวางแผนร่วมกับนักเรียน และครู ว่าจะสอบปลายภาค ของภาคเรียนที่ 1/2564 หรือไม่ เพราะการเรียนในเวลานี้ทำให้นักเรียนล้า และทำให้ครูเหนื่อย ที่ผ่านมาโรงเรียนเปิดให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นทุกเรื่อง และถ้าโรงเรียนไม่จัดสอบปลายภาคในภาคเรียนที่ 1/2564 ก็สามารถวัดและประเมินผลนักเรียนได้ เพราะขณะนี้การวัดและประเมินผลสามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับสภาพเนื้อหาของแต่ละรายวิชา และข้อตกลงระหว่างครู และนักเรียนด้วย ที่ผ่านมาโรงเรียนได้หารือร่วมกับนักเรียน ครู และผู้ปกครองตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2/2563 ถึงปัญหาอุปสรรคในการเรียนออนไลน์ว่ามีอะไรบ้าง และโรงเรียนได้นำข้อมูลที่ได้มาพิจารณา และวางแผนการจัดการเรียนในภาคเรียน 1/2564 “ส่วนที่นักวิชาการเสนอให้หยุดเรียน 1 ปี ในมุมมองของดิฉัน มองว่าการจัดการศึกษาต้องไม่หยุดนิ่ง เพราะผู้ปกครองมีความหวังกับโรงเรียน ที่จะจัดการศึกษาให้กับนักเรียนค่อนข้างสูง แต่ควรปรับเปลี่ยนวิธีเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากกว่า” นางวรรณดีกล่าว ผู้สื่อข่าวถามว่า การรับนักเรียนระดับชั้น ม.4 ปีการศึกษา 2565 จะปรับเปลี่ยนเกณฑ์อะไรหรือไม่ เพราะการเรียนออนไลน์อาจทำให้เด็กได้รับความรู้ไม่เต็มที่ นางวรรณดีกล่าวว่า คงจะต้องปรับเกณฑ์การรับนักเรียน เพราะขณะนี้อยู่ในสถานการณ์วิกฤตของการแพร่ระบาด แต่ต้องหารือ และรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นครู นักเรียน ผู้ปกครอง อย่างรอบคอบ และรอฟังแนวปฏิบัตินโยบายการรับนักเรียนจาก สพฐ.ด้วย นายวิเชียร อินทรสมพันธ์ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) บ้านสมเด็จเจ้าพระยา กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะหยุดเรียน 1 ปี เพราะการหยุดเรียนทำให้คนไม่มีการพัฒนา และการเรียนออนไลน์ก็ทำได้หลายรูปแบบ หลายวิธี เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในด้านการเรียนการสอนอย่างมาก อาจารย์สอนสามารถเลือกเครื่องมือที่หลากหลายมาจัดการเรียนการสอนได้ และขณะนี้ครูเริ่มปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ทันกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน “มองว่าการศึกษาหยุดไม่ได้ จำเป็นต้องทำการเรียนการสอนต่อไป ไม่ทำไม่ได้ แต่คนที่ทำการเรียนการสอนต้องพัฒนาไปด้วย ครูผู้สอนจะปรับเปลี่ยนตัวเองหรือไม่ เพราะครูบางคนยังไม่ยอมปรับตัว รักษาวัฒนธรรมเก่าๆ อยู่ และผู้เรียนต้องมีความรับผิดชอบ พร้อมที่จะเรียนรู้ด้วย” นายวิเชียรกล่าว นายวิเชียรกล่าวต่อว่า ส่วนการเรียนออนไลน์ ทั้งผู้สอน และผู้เรียน ต้องมีความพร้อมในเรื่องของอุปกรณ์ สัญญาณอินเตอร์เน็ต แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้เด็กไม่มีความพร้อมในเรื่องอุปกรณ์ ในระดับอุดมศึกษา และมัธยม พบว่าเด็กยังมีความพร้อมด้านอุปกรณ์อยู่ แต่ในระดับประถม จากที่เข้าไปพัฒนาครู จ.สุมทรสาคร และ จ.สุพรรณบุรี พบว่าผู้อำนวยการโรงเรียนได้สะท้อนปัญหามาว่าเด็กชั้นประถมไม่มีอุปกรณ์ ต้องใช้มือถือของพ่อแม่มาเรียน เมื่อพ่อแม่ของเด็กต้องออกไปทำงาน ต้องเอามือถือไปด้วย ทำให้เด็กไม่สามารถเข้าเรียนได้ ครูต้องใช้วิธีอัดคลิปการสอนลงในไลน์ หรือส่งเอกสารให้นักเรียน เมื่อพ่อแม่กลับมาบ้าน เด็กจะใช้มือถือพ่อแม่ในการเรียน และอัดคลิปส่งครู “ผมมองว่าในสถานการณ์การแพร่ระบาด เด็กคงกลับมาเรียนตามปกติได้ยาก และถ้านักเรียนยังเรียนออนไลน์ต่อ มีผลกระทบ มีการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาแน่นอน เพราะการจัดการเรียนการสอนในระดับประถม ประกอบด้วย 3 หลักคือ เน้นการพัฒนาด้านพุทธิพิสัย เด็กต้องพัฒนาการด้านสมอง และความรู้ การพัฒนาจิตพิสัย โดยเน้นพัฒนาด้านทักษะอารมณ์ และการพัฒนาด้านทักษะพิสัย แต่เมื่อนักเรียนต้องเรียนออนไลน์ การพัฒนา 3 ทักษะอาจไม่ครบถ้วน ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพการเรียนลดลง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรัฐบาล และประชาชนว่าจะช่วยจำกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้มากน้อยแค่ไหน” นายวิเชียรกล่าว นายวิเชียรกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ มองว่ารัฐบาลควรให้เด็กทั่วประเทศใช้อินเตอร์เน็ตฟรี อาจจะติดอินเตอร์เน็ตให้นักเรียนทุกบ้าน พร้อมสนับสนุนให้นักเรียนมีโน้ตบุ๊ก หรือโทรศัพท์มือถือ ใช้ในการเรียนออนไลน์อย่างเร่งด่วนสำหรับผู้ที่ยากไร้ พร้อมกับเร่งพัฒนาครูให้สามารถจัดการเรียนการสอนให้ทันสมัย ทันเทคโนโลยี