เมื่อวัน่ 10 ส.ค.64 รองศาสตราจารย์ ดร.นิรมัย พิศแข มั่นจิตร รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ ศูนย์ลำปาง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุค ระบุว่า
"ปัจจุบันเรามีกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองแก่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และสถานพยาบาลอยู่แล้วหลายฉบับ ซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่สถานการณ์
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่มีผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 200 คน คุณหมอทุกคนได้รับความคุ้มครองอยู่แล้วตามข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2559 ข้อ 15 ที่ให้คุณหมอรักษาพยาบาลผู้ป่วยภายใต้ความสามารถและ "ข้อจำกัดตามภาวะ วิสัย และพฤติการณ์ที่มีอยู่ในสถานการณ์นั้น ๆ" (ไม่ใช่ต้องดีที่สุดในภาวะที่มีโรคติดต่อร้ายแรง)
คุณหมอที่ทำงานในสถานพยาบาลของรัฐ ได้รับความคุ้มครองตาม พรบ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ที่จะรับผิดเป็นการส่วนตัวก็ต่อเมื่อตนเองทำไปโดย "เจตนา" หรือ "ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง" เท่านั้น หากการรักษาพยาบาลทำไปอย่างเต็มที่แล้วในสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้น แม้ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยอาจจะสืบเนื่องมาจากความประมาททั่วไป ก็ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวแต่อย่างใด
หากคุณหมอทำงานในสถานพยาบาลเอกชน ในภาวะวิกฤต ฉุกเฉินที่เกิดขึ้น คุณหมอ บุคลากรที่เกี่ยวข้อง และสถานพยาบาลเอกชน (รวมถึงสถานพยาบาลรัฐด้วย) จะได้รับความคุ้มครองตาม พรบ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2559 มาตรา 29(1) และตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่อง ประเภท ระดับ อำนาจหน้าที่ ขอบเขตความรับผิดชอบ และข้อจำกัดของหน่วยปฏิบัติการ พ.ศ.2562 ข้อ 5(9) ที่ให้ความคุ้มครองกับผู้ปฏิบัติการและหน่วยปฏิบัติการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
ซึ่งจะรับผิดเป็นการส่วนตัวก็ต่อเมื่อตนเองได้ทำให้เกิดความเสียหายโดย "เจตนา" หรือ "ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง" เท่านั้น