ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง : ไม่ใช่เที่ยวทิพย์จิตนาการ แต่เป็นเที่ยวท่องเสมือนจริงทางโลกออนไลน์
สัปดาห์นี้พาไปทัวร์ 11 เมืองสร้างสรรค์แห่งอาเซียนผ่านทางนิทรรศการและกิจกรรม “เมืองสร้างสรรค์แห่งอาเซียน : ASEAN Creative Cities” ในโอกาสครบรอบ 54 ปีก่อตั้งสมาคมอาเซียน จัดโดยศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ในนามรัฐบาล ที่มีนโยบายในการสร้างบทบาทของประเทศไทยในเวทีอาเซียนและประชาคมโลก โดยใช้มิติทางวัฒนธรรมเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยเฉพาะกลุ่มสมาชิกอาเซียนที่มีศิลปวัฒนธรรมและประเพณีที่คล้ายคลึงกัน ตลอดจนมีความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านต่างๆ ระหว่างกันมายาวนานถึงปัจจุบัน นับจากวันก่อตั้งสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 และเนื่องในวาระครบรอบ 6 ปีการก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน
อีกทั้งองค์การสหประชาชาติประกาศให้ปี พ.ศ. 2564 เป็น “ปีสากลแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องเมืองสร้างสรรค์ภายใต้เครือข่ายของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network) และสนับสนุนการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงได้จัดนิทรรศการและกิจกรรมในรูปแบบออนไลน์ เปิดไปอย่างทางการเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ณ ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน อาคารหอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน กรุงเทพฯ โดยผ่านช่องทางเฟซบุ๊กแฟนเพจศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน นิทรรศการจัดแสดงไปถึง 31 ธันวาคม หรือสิ้นปี 2564
สิงคโปร์ เครดิตภาพ Timothy Hursley
เชียงใหม่ เครดิตภาพ อบจ. เชียงใหม่
สำหรับตรงนี้นำภาพนิทรรศการ 11 เมืองสร้างสรรค์แห่งอาเซียน ที่ได้รับการคัดเลือกจากยูเนสโก ได้แก่ 1. เปกาลังงาน อินโดนีเซีย สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน 2. บันดุง อินโดนีเซีย สาขาการออกแบบ 3. อัมบัน อินโดนีเซีย สาขาดนตรี 4. บาเกียว ฟิลิปปินส์ สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน 5. เซบู ฟิลิปปินส์ สาขาการออกแบบ 6. สิงคโปร์ สาขาการออกแบบ 7. ภูเก็ต ไทย สาขาวิทยาการอาหาร 8. เชียงใหม่ ไทย สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน 9. กรุงเทพมหานคร ไทย สาขาการออกแบบ 10. สุโขทัย ไทย สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน และ11. ฮานอย เวียดนาม สาขาการออกแบบ มาให้ชมกันบางภาพ เครดิตภาพจากศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน
ฮานอย เวียดนาม เครดิตภาพHanoi Department of Culture and Sports
บันดุง อินโดนีเซีย เครดิตภาพ Bandung Creative City Forum (BCCF)
บาเกียว ฟิลิปปินส์ เครดิตภาพ Baguio City
ส่วนการเป็นเมืองสร้างสรรค์ จะมีที่มาที่ไปอย่างไร และทำไมถึงต้องเป็นเมืองสร้างสรรค์นั้น ต้องไปติดตามชมในกิจกรรม จะมีการบรรยายให้ความรู้และการสาธิตทางวัฒนธรรมจากผู้แทนเมืองสร้างสรรค์ทั้ง 4 เมืองในประเทศไทย ได้แก่ ภูเก็ต (สาขาอาหาร) เชียงใหม่ (สาขาหัตถกรรมพื้นบ้าน) สุโขทัย (สาขาหัตถกรรมพื้นบ้าน) และกรุงเทพ (สาขาออกแบบ) จำนวน 2 ครั้ง ระหว่างวันที่ 11 – 12 ก.ย. และวันที่ 27 – 28 พ.ย. 2564 รวมถึงเพื่อเป็นแบบอย่างและการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เมืองที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นเมืองสร้างสรรค์ต่อไปในอนาคต มีการนำเสนอผ่านเทคโนโลยีอินเตอร์แอคทีฟ และสื่อมัลติมีเดียที่ทันสมัย เข้าใจง่าย เหมาะสมกับทุกเพศทุกวัย เช่น ดาวน์โหลดข้อมูลองค์ความรู้ผ่านการสแกน QR Code การจัดมุมถ่ายภาพ และนิทรรศการเสมือนจริง (Virtual Exhibition)
ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการและร่วมกิจกรรม “เมืองสร้างสรรค์แห่งอาเซียน : ASEAN Creative Cities” ได้ช่องทางเฟซบุ๊กแฟนเพจศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน