"จุรินทร์" รับ รบ.เจอศึกหนัก "การเมือง-เศรษฐกิจ-โควิด" เตือนม็อบชุมนุมใช้ความรุนแรงไม่เป็นไปตามวิถีประชาธิปไตย "กมธ.กฎหมาย" ร่อนหนังสือเชิญ "ผบ.ตร.-ปธ.กสม.-ผู้ว่าฯกทม.-ตัวแทนม็อบ" ชี้แจงบังคับใช้กฎหมายในการชุมนุม ส่วน "111 นักกม.-คณาจารย์นิติฯ" ออกแถลงการณ์ประณามตร.ใช้ความรุนแรงปราบม็อบ ด้าน"บช.น."สรุปม็อบชุมนุม11สิงหาฯ "ตำรวจ" บาดเจ็บ 11 ราย รถยนต์ ถูกเผา 8 คัน ตู้ควบคุมสัญญาณจราจรถูกเผา และทำลายอีก 12 แห่ง พร้อมรวบ 2 มือเผารถตำรวจ ม็อบ7สิงหาฯ ฟันข้อหาหนัก
เมื่อวันที่ 12 ส.ค.64นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล(ก.ก.) ในฐานะคณะกรรมาธิการ(กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่?) พ.ศ? แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 96 เปิดเผยถึงบรรยากาศการประชุม กมธ. ว่า เป็นไปด้วยความลุกลี้ลุกลนมาก พรรคใหญ่สองพรรคจากทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านก็ค่อนข้างมีความเอื้ออาทรอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โยนกันไปโยนกันมา สอดคล้องไปในแนวเดียวกัน โดยเสนอหลักการที่ถูกตีตกไปแล้วในวาระ 1 มาใส่ในร่างที่กำลังแก้ไขอยู่
"บรรยากาศของพรรคใหญ่สองพรรคเป็นไปอย่างหนุงหนิงเหมือนคนเพิ่งจีบกันใหม่ๆ หากพรรคก้าวไกล เห็นต่างขึ้นมาก็จะถูกอภิปรายหักล้างและโหวตทันที ทำให้ผมได้เห็นสองเรื่องที่มีความยึดโยงกันคือ 1.การโหวตโยกงบ 1.6 หมื่นล้านบาท ไปอยู่ในงบกลาง และ 2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีความกลมเกลียวกันจนน่าสงสัยและน่าติดตามว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร เป็นความสัมพันธ์ที่มีความเอื้ออาทรต่อกันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้พรรคก.ก.ที่เป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านดูเหมือนเป็นคนนอกไปเลย"
ด้าน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ กล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้านเตรียมอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี ว่า ยังไม่ทราบว่ามีรัฐมนตรีคนไหนถูกอภิปรายบ้าง และตอบไม่ได้ว่าจะมีการพุ่งเป้าไปที่ใครแต่เชื่อว่าถ้ามีรายชื่อผู้ถูกอภิปรายฯ ออกมาแล้ว ก็จะสะท้อนให้เห็นได้ว่าฝ่ายค้านต้องการอะไรซ่อนอยู่หรือไม่
"ตอนนี้รัฐบาลต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ โควิด-19 และการเมือง ที่ต้องแก้ปัญหาไปพร้อมๆกัน แต่ยอม รับว่าสถานการณ์นี้ไม่ง่าย แต่เป็นหน้าที่ต้องที่รัฐบาลต้องทำให้สถานการณ์คลี่คลาย"
เมื่อถามถึงการชุมนุมที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลลาออกนั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า การใช้ความรุนแรงไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางของประชาธิปไตย จึงขอให้ทุกฝ่ายตระหนัก ระมัดระวัง
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา ว่า นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้มีหนังสือนัดประชุมคณะกรรมาธิการฯในวันที่ 18 ส.ค. เวลา 09.30 น. โดยมีวาระการประชุมที่น่าสนใจคือการพิจารณาการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคลอื่นตามกรอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งทางคณะกรรมาธิการฯ ได้มีหนังสือเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ,ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ,ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ,อธิบดีอัยการ สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน และตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง เพื่อให้ข้อมูล และข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ
ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ผบช.น.) ,พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผบช.น., พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติรักษาความสงบม็อบกลุ่มทะลุฟ้าที่จัดกิจกรรมไล่รัฐบาล ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ต่อเนื่องแยกดินแดง เมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา
โดย พล.ต.ท.ภัคพงศ์ เปิดเผยว่า สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ 11 นาย สาเหตุการบาดเจ็บเกิดจากระเบิดปิงปอง ถูกพลุไฟ ลูกแก้วและประทัดยักษ์ ส่วนทรัพย์สินของทางราชการรถยนต์ถูกเผา8 คัน ป้อม และตู้ควบคุมสัญญาณจราจรถูกเผาและทำลายอีก 12 แห่ง ส่วนผู้กระทำความผิดจับกุมได้ทั้งหมด 17 ราย เบื้องต้นแจ้งข้อกล่าวหาผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ร่วมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และจะได้มีการรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม ถ้าพบการกระทำความผิดข้อหาอื่นก็จะดำเนินคดีเพิ่มเติม และอยู่ระหว่างพิสูจน์ทราบผู้กระทำความผิดรายอื่นที่ร่วมกันในการกระทำความผิดครั้งนี้
ผบช.น. กล่าวอีกว่า จากเหตุการณ์เผารถควบคุมผู้ต้องขังที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเหตุเกิดเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา จากการรวบรวมพยานหลักฐานศาลอาญาได้ออกหมายจับ นายอาทิตย์ สกลวารี และนายน้ำเชี่ยว เนียมจันทร์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าทำการจับกุมตัวไว้ได้ โดยทั้งสองคนให้การปฏิเสธ โดยนายอาทิตย์ยอมรับว่าอยู่ในเหตุการณ์จริง ยอมรับร่วมกันใช้ระเบิดปิงปองขว้างใส่รถควบคุมผู้ต้องขัง แต่ไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้รถเกิดเพลิงไหม้ ส่วนนายน้ำเชี่ยวให้การรับสารภาพทุกข้อกล่าวหาว่าอยู่ในที่เกิดเหตุร่วมกันใช้ระเบิดเพลิงขว้างใส่รถควบคุมผู้ต้องขังจนเกิดเพลิงไหม้ สำหรับนายน้ำเชี่ยวมีประวัติเคยถูกดำเนินคดีร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ทั้ง 2 คน ศาลอาญาได้อนุมัติออกหมายจับข้อหาร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ รวมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป มั่วสุม ก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองและความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ด้าน พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า ในส่วนการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาในคดีวางเพลิงเผาทรัพย์รถควบคุมผู้ต้องขัง เจ้าหน้าที่ได้ทำการควบคุมผู้ต้องหาทั้ง 2 คน พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น ร่วมกันสมคบกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองเจ้าหน้าที่สั่งให้หยุดแล้วไม่หยุด นอกจากนี้ยังเป็นความผิดตามพ.ร.ก. ฉุกเฉินและพ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อด้วยอีกส่วนหนึ่ง ในการสืบสวนขยายผลเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจค้นบ้านผู้ต้องหา 1ใน2 ผู้ต้องหาพบอาวุธปืนไทยประดิษฐ์ และวัสดุที่ใช้ในการประกอบวัตถุระเบิด ระเบิดปิงปอง เสื้อผ้า ของผู้ต้องหาที่ใส่ในวันเกิดเหตุซึ่งเป็นพยานแวดล้อมประกอบ คดี
ขณะเดียวกัน เครือข่ายนักกฎหมายและคณาจารย์นิติศาสตร์ 111 คน ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง ขอประณามการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อการชุมนุมของประชาชน ในการชุมนุมสาธารณะเมื่อวันที่ 7 ส.ค.และวัน ที่ 10 ส.ค. เช่น การยิงกระสุนยางจากพื้นที่สูง การยิงโดยมุ่งเข้าใส่ตัวบุคคล การยิงแก๊สน้ำตาเข้าไปในที่ชุมนุม และ พื้นที่ของชุมชนโดยไม่ใส่ใจต่อความปลอดภัยและสวัสดิภาพของผู้คน การยั่วยุผู้ชุมนุมให้เกิดความโกรธแค้น เป็นต้น ดังนั้นหากสังคมปล่อยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงสามารถใช้ความรุนแรงในการปราบปรามประชาชนตามอำเภอใจโดยไม่ต้องมีความรับผิดใด ๆ เกิดขึ้น ก็จะทำให้การกระทำดังกล่าวกลายเป็นแนวทางปฏิบัติที่สามารถเกิดขึ้นได้ต่อไปอีกในอนาคต การใช้ความรุนแรงในลักษณะเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาเป็นอย่างยิ่งในห้วงเวลาปัจจุบัน เพราะจะเป็นการยอมรับให้รัฐไทยกลายเป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดเหนือชีวิตและเสรีภาพของประชาชน อันเป็นสิ่งที่ขัดกับอุดมคติของการปกครองด้วยกฎหมายในสังคมไทยและในโลกปัจจุบัน
ด้วยความยึดมั่นในสิทธิเสรีภาพและระบอบประชาธิปไตย