ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย ก่อนที่จะเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 การศึกษาของไทยก็ประสบปัญหามาโดยตลอด ตั้งแต่หลักสูตร ครู เครื่องมือเครื่องใช้ในการค้นคว้า ศึกษาหาความรู้ อย่างแทปเลต หรือ Note book หรือแม้แต่ Smart Phone หรือ E-Library เพราะโลกในอนาคตอันใกล้ต้องการทักษะที่สำคัญ 4 กลุ่มใหญ่ด้วยกัน ซึ่งพอสรุปได้จากรายงานของ The Oxford Economics ดังต่อไปนี้ 1.กลุ่มทักษะด้านดิจิทัล ซึ่งแยกย่อยออกไปได้ดังนี้ -การใช้งานดิจิทัลสำหรับงานธุรกิจ -การใช้งานดิจิทัลในการทำงานได้จากที่ต่างๆ -การใช้ระบบสารสนเทศ แพลตฟอร์ม และซอฟแวร์ต่างๆสำหรับงานขององค์กร 2.กลุ่มทักษะด้านวิธีคิด แบบที่มีความยืดหยุ่น(Agile Thinking) -การคิดที่หลากหลายวิธีในการแก้ปัญหา -ทักษะด้านนวตกรรม -การจัดการกับโจทย์ที่ไม่ชัดเจน -การหาจุดที่ลงตัว ในการดำเนินการต่างๆ -ความสามารถในการมองภาพรวมหรือคิดแบบองค์รวม 3.กลุ่มทักษะด้านการสื่อสารกับคนอื่น -การระดมสมองหรือร่วมสร้างอะไรแบบเป็นทีม -การสร้างมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี -การเข้าใจบทบาทของตนเองในองค์กร -การรู้จักการเสนอความคิด และการสร้างการตอบรับที่ดี 4.กลุ่มทักษะด้านความเป็นสากล -การจัดการและสร้างความสัมพันธ์กับความหลากหลาย -การมีทักษะต่อกระบวนวัตรของโลก และวัฒนธรรมต่างๆ -การมีทักษะด้านการตลาดในยุคโลกาภิวัตน์ -การมีจิตวิญญาณของนักผจญภัยที่พร้อมจะไปทำงานได้ในทุกมุมโลก -เชี่ยวชาญด้านภาษาต่างประเทศหรือสามารถใช้เครื่องมือสื่อสารภาษาต่างประเทสอย่างช่ำชอง ถ้ามองดูระบบการศึกษาของไทยแล้วไม่ว่าจะได้รับผลกระทบจากโควิดหรือไม่ก็ยังคงพัฒนาไปอย่างเชื่องช้ามาก ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ยิ่งโดนกระทบอย่างแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด ยิ่งทำให้ความไม่พร้อมในการปรับตัวของการศึกษาไทย ที่ต้องผันตัวไปเรียนออนไลน์ ยิ่งมีผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยมอยู่แล้วให้อ่อนยวบลงไปอีก ความหวังที่จะปรับตัวจึงดูมืดมนต่อย่างยิ่ง งานวิจัยของ Dr.Tony Wagner ได้ผลสรุปว่าเด็กรุ่นใหม่ต้องมีทักษะ 7 เรื่อง ซึ่งก็สอดรับกับที่กล่าวมาข้างต้น นั่นคือเราต้องให้เด็กรุ่นใหม่ให้เป็นนายจ้างไม่ใช่ลูกจ้าง หรือข้าราชการต้องให้รู้จักคิด รู้จักประยุกต์ ไม่ใช่การท่องจำ ต้องรู้จักคัดแยกและวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งมีมากมายมหาศาลประดุจเมล็ดทรายในห้วงมหาสมุทร มีความคิดริเริ่ม และสามารถถ่ายทอดได้ทั้งการพูดและการเขียน มีความอยากรู้อยากเห็น กล้าคิดกล้าฝันและกล้าทำ หรือทดลองทำ และสุดท้ายมีจิตวิญญาณของนักผจญภัยที่พร้อมจะเรียนรู้หรือรับรู้สิ่งใหม่ๆ ข้อสังเกตประการหนึ่งของรายงานทั้งฝั่งอังกฤษคือOxfordและฟากฝั่งสหรัฐของDr.Tony WagnerจากHarvard ล้วนแล้วแต่มุ่งเน้นแต่การตอบสนองทางกายภาพและวัตถุ แต่มิได้ชี้นำในเรื่องการเติมเต็มทางด้านจิตใจ ดังนั้นเราจึงจะไม่ค่อยพบเห็นสถานศึกษาที่จะมีแนวทางในการพัฒนาจิตใจ แบบสถานศึกษาตามแนวปรัชญาการศึกษาของรูดอล์ฟ สไตน์เนอร์ เพื่อเติมเต็มช่องว่างระหว่างการพัฒนาทางเทคโนโลยีและการพัฒนาทางจิตวิญญาน Mind,Soul and Spirit จึงเป็นสิ่งที่น่ากังวลใจสำหรับคนรุ่นต่อๆไป ที่จะไปติดยึดกับความต้องการทางวัตถุและอาจถูกครอบงำโดยเทคโนโลยีซึ่งไม่มีชีวิตจิตใจเยี่ยงมนุษย์ แน่นอนการขัดเกลาจิตใจย่อมไม่ใช่วิธีการท่องจำ หรือให้นั่งสวดมนต์ เพราะมันเป็นแค่เปลือก แต่เป็นสิ่งที่คนรุ่นbabyboom คุ้นชิน ดังนั้นมาตรฐาน"คนดี"ในยุคปัจจุบันจึงเป็นเพียงเปลือกที่สร้างมาเพื่อเป็นมายาคติเท่านั้น ทีนี้มาดูถึงองค์ประกอบของประชากรที่จะแบ่งเป็นรุ่นๆดังต่อไปนี้ 1.รุ่นแรกหรือ Gen แรก ที่ยังหลงเหลืออยู่คือรุ่น Baby Boomer คือคนที่อายุประมาณ 56-75 ปี ซึ่งเริ่มได้สัมผัสกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ขณะเดียวกันก็อยู่ในช่วงสงครามเย็นที่มีการต่อสู้กันระหว่างลัทธิประชาธิปไตย กับลัทธิคอมมิวนิสต์ สุดท้ายลงเอยที่เผด็จการ ผลคือคนที่เกิดในยุคนี้มักจะเป็นพวกอนุรักษ์นิยมอย่างมากและมักจะเชื่ออย่างฝังหัวไปอย่างใดอย่างหนึ่งจากผลการโฆษณาชวนเชื่อในยุคนั้น โชคร้ายที่คนรุ่นนี้ นอกจากจะมีจำนวนมากแต่มีอายุและสุขภาพที่แข็งแรงอายุยืนยาวขึ้นด้วยเทคโนโลยีด้านสุขอนามัยที่ก้าวหน้า จึงเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทในการครอบงำความคิดเป็นผู้นำทั้งในวงการเมือง วงการธุรกิจ และสังคม จึงพยายามขัดขวางการเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้ตนเองรู้สึกอึดอัด หรือสูญเสียสถานะเพราะปรับตัวไม่ทัน 2.ยุคที่สอง คือพวกที่ถูกเรียกว่า Gen-x คือคนที่อยู่ในช่วงอายุ 40-55 ปี เป็นกลุ่มคนที่ไม่ค่อยได้อยู่กับพ่อแม่ในตอนเด็ก เพราะพ่อแม่ต้องทำงานทั้ง 2 คน คนรุ่นนี้จึงมีความคิดที่ค่อนข้างอิสระ แต่ก็ยังตกอยู่ใต้อิทธิพลทางความคิดของพ่อ-แม่อยู่บ้าง แม้จะไม่ค่อยสนใจยึดถือประเพณีมากนัก คนรุ่นนี้เริ่มใฝ่ฝันที่จะเป็นผู้ประกอบการ หรือเป็นเจ้าของกิจการของตนเอง มากกว่ารุ่นพ่อ-แม่ เพราะเห็นว่าการเป็นลูกจ้างของพ่อ-แม่ ต้องทำงานหนัก และไม่มีฐานะอะไรดีมากขึ้น 3.ยุคที่ 3 คือ คน Gen-y เกิดระหว่างช่วง 1981-1996 ช่วงอายุประมาณ 24-39 ปี เป็นพวกกลุ่มแรกที่ได้ใช้คอมพิวเตอร์แบบส่วนตัว และโทรศัพท์มือถือที่ต่อมาพัฒนาเป็น Smart Phone เป็นรุ่นดิจิทัล ที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีดิจิทัล และก้าวตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันคนรุ่นนี้ก็ต้องเผชิญกับความไม่ค่อยมีเสถียรภาพในการทำงาน เพราะต้องแข่งขันกับเทคโนโลยีทั้งเครื่องจักรอัตโนมัติ และ AI คนรุ่นนี้จึงมีความเป็นอิสระทางความคิดและเชื่อมั่นในตัวเองสูง ไม่ค่อยสนใจวัฒนธรรมที่เก่าแก่คร่ำครึ และหลายสิ่งที่คนกลุ่มนี้ถือว่าเป็นอุปสรรคขัดขวางความเจริญทั้งของตนเองและของชาติ แม้ว่าความคิดเรื่องชาติจะเจือจาง ไปสู่ความเป็นชาวโลกที่พร้อมจะไปที่ใดก็ได้ แบบไร้พรมแดน 4.สำหรับคน Gen ที่ 4 คือ Gen-z มีอายุ 8-23 ปี ซึ่งอยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน คนกลุ่มนี้จะตกอยู่ในภาวะที่ทนทุกข์ทรมานต่อการปรับตัวให้ทันต่อสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วรุนแรง ในขณะที่ระบบทั้งหลายโดยเฉพาะระบบการศึกษามิได้พัฒนาในรูปแบบที่จะเตรียมความพร้อมให้คนรุ่นนี้ได้เตรียมตัวเผชิญโลก ในยุคที่คนยุค Baby Boom ส่วนใหญ่ไม่อาจคาดถึง แต่ก็เหนี่ยวรั้งเอาไว้ไม่ให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เพราะมันสั่นคลอนถึงสถานภาพของตนเอง ทีนี้มาลองพิจารณาถึงสัดส่วนของประชากรในปัจจุบัน คนรุ่น Baby Boom มีประมาณ 11.8 ล้าน แต่คน Gen-x นั้นมีถึง 16.4 ล้านคน อย่างไรก็ตามคน Gen-x มักจะไม่ค่อยมีความคิดเห็นของตนเองเท่าไร มักจะถูกครอบงำความคิดจากคนรุ่น Baby Boom และการโฆษณาชวนเชื่อที่นับวันจะรุนแรง และสร้างอิทธิพลสูงในกระบวนการคิดหรือชุดความคิด (Mind Set) ของคนรุ่นนี้อย่างมาก ดังนั้นคนรุ่นนี้จึงแตกออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งยึดติดกับคนรุ่น Baby Boom ที่อนุรักษ์นิยม อีกส่วนหนึ่งยอมรับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี และวิวัฒนาการของโลก คนส่วนนี้ของ Gen-x จึงจะไปรวมและผนึกพลังความคิดในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม และมีความเป็นเสรีนิยมที่เบ่งบาน เพราะคน Gen-y จะมีประมาณ 15.2 ล้านคน ซึ่งใกล้เคียงกับคน Gen-x ที่สำคัญคน Gen-z นั้นจะมีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงกับคน Gen-y จึงน่าจะมีความคิดใกล้เคียงกับคน Gen-y เป็นมนุษย์ในยุคดิจิทัล ที่ต้องต่อสู้กับวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี และมีอิสระทางความคิด มีแนวทางแบบที่เรียกว่าไร้พรมแดน ที่มีความลื่นไหลไปตามกระแสของโลกาภิวัฒน์ โดยกลุ่ม Gen-z นี้ในปัจจุบันมีประมาณ 5.3 ล้านคน เมื่อรวมกับ Gen-y ก็จะเป็นประมาณ 20.5 ล้านคน ในขณะที่คนยุค Baby Boom เริ่มร่วงโรยตามสังขารและจะมีจำนวนลดลงไปเรื่อยๆ หากมองไปข้างหน้าอีก 10 ปี คน Gen-y+z ก็จะขึ้นมามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างสำคัญ ขนาดที่ถ้าย้อนเวลามาได้คนยุคแรกแทบจะไม่เชื่อตาตนเองเลย เรื่องนี้หากมองด้วยสัจธรรมทุกอย่างมันต้องเปลี่ยนแปลงมันไม่เที่ยง เพียงแต่ว่าคราวนี้มันเปลี่ยนแปลงเร็วมากๆ จนคนรุ่นแรกที่ไม่คุ้นกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วต้องช็อกตาย