บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) สิทธิและเสรีภาพในโลกแห่งความเป็นจริงไม่สวยนะแต่ต้องพอดีๆ ช่วงที่ผ่านมาหมาดๆ มีข้อพิจารณาเกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐในการจัดการกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง กลุ่มผู้เห็นต่างรัฐ กลุ่มผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐ เรียกว่า “การดำเนินการต่อฝ่ายตรงข้ามรัฐ” ด้วยการใช้มาตรการทางกฎหมายที่แปลกแตกต่าง หรือขัดแย้งต่อหลักการสากล (International Law) หรือ หลักนิติธรรม (The Rule of Law) ปรัชญาว่า “สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก” (Freedom of Expression) หรือ “สิทธิเสรีภาพในการพูด” (Freedom of Speech) และ “สิทธิในเสรีภาพการชุมนุม” ในปัจจุบันต้องอย่าลืมสิทธินี้ “สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกออนไลน์” ถือว่าเป็นเสรีภาพของทุกคน เป็น “สิทธิการเมือง” ในการสื่อสารความคิดของบุคคลผ่านการพูด เป็นแสดงออกหรือสื่อสารความรู้สึกนึกคิดหรือความเห็น ทั้งด้วยการพูด การแสดงท่าทาง หรือการสื่อสารด้วยตัวหนังสือ ไม่ว่าจะบนหน้ากระดาษหรือในโลกออนไลน์ ตลอดจนในรูปแบบอื่น รวมถึงสิทธิในการค้นคว้า หา เข้าถึงหรือได้รับข้อมูล ความรู้สึกนึกคิด ความเห็นที่มีการสื่อสารและเผยแพร่ด้วย “ถือเป็นสิทธิมนุษยชน (Human Rights) เป็น สิทธิพลเมืองของประชาชน (Civil Rights) เป็น “สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน” (Fundamental Right) ตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ” ที่รัฐภาคีต้องยอมรับ เพียงมีข้อจำกัดในบางเรื่องว่า “สิทธินี้จะเข้มแข็งเพียงใดขึ้นอยู่กับการแสดงออกของประชาชนในแต่ละรัฐเท่านั้น” และ การใช้สิทธิดังกล่าวต้องมี “หน้าที่และความรับผิดชอบพิเศษ” ควบคู่ไปด้วย ในท่ามกลางโลกแห่งการประชดประชันเย้ยหยัน อาจถึงขั้นเหยียด Bully เป็นวาทกรรม (Discourse) แห่งการดัดจริตมากไปหรือไม่คำว่า “โลกสวย” หรือ พวกโลกสวย คนโลกสวย คนคิดบวกมาก เชิงหวังดีเกิน หรือ “โลกยูโธเปีย” (Uthopia) เป็นคำกระแนะกระแหน พูดส่อเสียด ว่ามองโลกในแง่มุมที่ดีเกินไป หรืออ่อนต่อโลกเกินไป ทำอะไรก็ไม่ดีขัดต่อความดี หรือ ดีเกินไปกว่าชีวิตจริง แม้การพูดจาหยาบคายก็ว่าไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ดีไปหมด จนบางครั้งคนที่ชอบพูดตรงๆ และทำอะไรตรงๆ แบบ Inconvenient Truth หรือ “ความจริงที่เป็นปัญหา” แต่ไม่กล้าบอก เพราะแทงใจดำ อย่างไรก็ดี การฝึกคิดในแง่ดี คิดโลกในแง่บวกเพื่อเสริมสร้างทัศนะคติที่ดีในชีวิต โดยไม่ทำร้ายสังคม เพื่อรับมือกับ “วิกฤติทุกอย่าง” ที่ผ่านเข้ามาเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับกัน “การยอมรับในโลกแห่งความเป็นจริง” ณ เวลานี้ ถือเป็น “ศาสตร์และศิลป์แห่งการรักษาสมดุล” (ความพอดี ความได้สัดส่วนกัน) โดยแท้ สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือเสรีภาพการแสดงออกก็ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับ พุทธศักราช 2475 เป็นต้นมา แม้จะมีบทบัญญัติข้อจำกัดของการใช้เสรีภาพไว้ด้วยเงื่อนไขต่างๆ บ้างก็ตาม คือ มีเสรีภาพตามที่กฎหมายบัญญัติ เท่าที่ไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นต้น ฉะนั้น บทบัญญัติดังกล่าวจึงอยู่ในสถานะทางกฎหมายในลำดับสูงเหนือกว่ากฎหมายอื่นใดทั้งปวง หลังจากมีการระบาดของโควิด-19 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชาตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งถือว่ารัฐบาลเพิ่มข้อจำกัดด้านเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ได้รับรองถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไว้ในข้อที่ 19เป็นกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่งและทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) เพื่อให้เกิดผลผูกพันในทางระหว่างประเทศ ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปว่า ผู้นำเป็นบุคคลสาธารณะต้องอดทนอดกลั้นต่อการวิพากษ์วิจารณ์ ฉะนั้น เช่น การวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลประมาทปล่อยปละละเลยไม่ดูแลประชาชนให้ดีทั่วถึง จนเกิดโรคระบาดโควิดขยายวงกว้าง และทำให้เกิดคนตายด้วยความผิดพลาดในการบริหารจัดการ และการจัดหาวัคซีนเพื่อบริการแก่ประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเป็นความประมาทเลินเล่อ (negligence) หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง (gross negligence) ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 3 บัญญัติถึงการบริหารราชการตามหลักนิติธรรม มาตรา 26 บัญญัติการจำกัดสิทธิประชาชนเกินสมควรไม่ได้ มาตรา 47 บัญญัติไว้ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิ ได้รับบริการสาธารณสุข การป้องกันโรค การขจัดโรค จากภาครัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งประชาชนสามารถฟ้องร้องรัฐบาลได้ เพราะรัฐบาลในที่นี้หมายถึง นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี หรือคณะรัฐบาล สิทธิขั้นพื้นฐานการแสดงความคิดเห็นของสื่อและประชาชน พ.ร.ก.บริหารสถานการณ์ในภาวะฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 16 มาตรา 17 จะมีบทบัญญัติว่าไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองก็ตาม แต่มีประเด็นว่า (1) นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าบริหารใช้อำนาจจัดตั้ง ศบค. โดยความเห็นชอบของ ครม. ซึ่งมีนายกฯ เป็นประธานกรรมการ ศบค. เพื่อกำหนดนโยบายจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นการใช้อำนาจฝ่ายบริหารหรืออำนาจทางปกครอง (2) นโยบายของนายกฯ และ ศบค. จัดการโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไม่ได้ นายกฯ และ ศบค. ก็ไม่ต้องรับผิดทางกฎหมาย หรือไม่ (3) เรื่องเทียบกับคดีจำนำข้าวของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์แตกต่างกันอย่างไร ฯลฯ เป็นต้น อันเป็นที่มาของการฟ้องร้อง “รัฐบาลและผู้นำ” จากความเดือดร้อนในช่วงภาวะวิกฤติปัจจุบันที่สับสนอลหม่าน ปนเปกันมาก ระหว่าง วิกฤติโควิด วิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติศรัทธาความเชื่อมั่น (ในรัฐบาล) ที่สรุปว่า คนรากหญ้ากำลังจะตาย เพราะไม่มีจะกิน เป็นปัญหาทางปฏิบัติ ที่ศาลปกครองอ้างว่าไม่อยู่ในเขตอำนาจ ในที่นี้เห็นว่าการกระทำของรัฐบาลบางอย่างอาจเป็นการใช้อำนาจทางปกครองได้ เพราะเป็นการใช้ฐานอำนาจตามกฎหมาย คือ พ.ร.บ. ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ จึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองเพราะนายกฯ ยึดอำนาจรัฐมนตรีไปให้ตนเอง โดยเฉพาะอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เปรียบเทียบเหมือนกับการใช้อำนาจทางปกครอง เช่นคดีจำนำข้าวนายกฯ ยิ่งลักษณ์ฯ อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้หากฟ้องผู้ว่าราชการจังหวัด ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ศาลปกครองจะต้องรับคำฟ้อง เพราะอยู่ในเขตอำนาจแน่นอน ณ ปัจจุบัน ทราบว่า ศบค.และนายกฯถูกฟ้องศาลปกครองกลาง กรณีละเลยล่าช้าต่อหน้าที่ฯ ปล่อยให้คนป่วยตายโควิด ซึ่งศาลปกครองมีคำสั่งรับฟ้องแล้ว ลองมาสำรวจข่าวในความเห็นดังกล่าว รัฐปล่อยปละละเลยในการบริหารราชการแผ่นดินหรือไม่ มีประเด็นดราม่า ส.ส. บางคนโจมตีว่า รัฐบาลปล่อยให้ประชาชนเสียชีวิตเดือนละไม่ต่ำกว่า 1-2 พันคน เป็นการบริหารประเทศที่เกินคำว่า “เลินเล่อ” แต่ เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จึงสามารถใช้มาตรการทางกฎหมาย เพื่อเอาผิดรัฐบาลได้ และถ้ารัฐบาลให้ประชาชนซื้อวัคซีนเอง ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 47 ที่บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกัน และขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย” ถึงขนาดจะฟ้องนายกรัฐมนตรี กล่าวหากระทำผิดทั้งกฎหมายอาญา และรัฐธรรมนูญ ตาม ป.อาญา มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้ประชาชนเสียหาย แต่การกล่าวหานายกรัฐมนตรีมักจบลงด้วยความล้มเหลว ด้วยนายกรัฐมนตรีอยู่เหนือกฎหมาย เป็นอภิสิทธิ์ชน เช่น กรณีที่กล่าวหานายกรัฐมนตรีอยู่บ้านพักทหาร กระทำผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 (3) กรณีศึกษาการให้วัคซีนแก่ประชาชน สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กล่าวได้ว่า รัฐบาลไทยมีปัญหาในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรค หนึ่งในปัญหาสำคัญก็คงหนีไม่พ้นปัญหาการจัดหาวัคซีน ที่ทำให้มีจำนวนวัคซีนไม่เพียงพอ และยังรวมถึงปัญหาการกระจายวัคซีนไปยังประชาชนในภูมิภาคต่างๆ ที่ยังไม่ครอบคลุม และไม่เป็นไปตามแผนหรือระยะเวลาที่รัฐบาลเคยได้เคยกำหนดไว้ ซึ่งหลายท่านอาจมีคำถามว่า แล้วแบบนี้ รัฐบาล หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐต้องผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือไม่ มีกรณีศึกษาตัวอย่างเกี่ยวกับการละเลย เพิกเฉย ไม่ทำหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดหาวัคซีนให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ในสาธารณรัฐฝรั่งเศส คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2017 เลขที่ 397151 ประมวลกฎหมายการสาธารณสุขฝรั่งเศสกำหนดให้เด็ก อายุต่ำกว่า 18 เดือน ต้องได้รับวัคซีนที่จำเป็นเพื่อป้องกันโรค จำนวน 3 ประเภท ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ (Vaccin antidiphtérique) วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก (Vaccin antitétanique) และวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ (Vaccin antipoliomyélitique) หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่า “วัคซีนภาคบังคับ” ซึ่งในทางปฏิบัติไม่ปรากฏว่ามีวัคซีนชนิดใดที่มีคุณสมบัติที่สามารถป้องกันโรคได้ตรงทั้ง 3 ประเภทรวมอยู่ในตัวเดียวกันวางจำหน่ายในประเทศ แต่กลับมีวางจำหน่ายเฉพาะวัคซีนที่สามารถป้องกันโรคทั้ง 3 ประเภทและป้องกันโรคอื่นผสมรวมอยู่ด้วย ซึ่งวัคซีนป้องกันโรคอื่นไม่ได้อยู่ในข่ายบังคับให้เด็กจำเป็นต้องได้รับตามกฎหมาย เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ผู้ฟ้องคดีกับพวก จึงยื่นคำร้องต่อรัฐมนตรีซึ่งมีหน้าที่ดูแลด้านสุขภาพ (Ministre chargé de la santé) เพื่อขอให้พิจารณากำหนดมาตรการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนในกลุ่มของวัคซีนภาคบังคับที่เด็กจำเป็นต้องได้รับโดยไม่จำต้องมีวัคซีนป้องกันโรคอื่นรวมอยู่ แต่รัฐมนตรีฯ ปฏิเสธคำขอดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีจึงมาฟ้องคดีต่อสภาแห่งรัฐ เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งปฏิเสธของรัฐมนตรีฯ โดยการเพิกเฉยไม่กำหนดมาตรการใดๆ ตามคำขอของผู้ฟ้องคดี และขอให้รัฐเป็นผู้ดำเนินการกำหนดมาตรการดังกล่าว พร้อมทั้งให้รัฐชดใช้ค่าธรรมเนียมศาลให้แก่ผู้ฟ้องคดีทุกราย รายละ 30 ยูโร ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้จ่ายไปสำหรับการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมทางปกครองของสาธารณรัฐฝรั่งเศส ในเรื่องนี้สภาแห่งรัฐ (Conseil d'État) ในฐานะศาลปกครองสูงสุด พิจารณาพิจารณาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของรัฐมนตรีฯ และสั่งรัฐมนตรีฯ กำหนดมาตรการหรือดำเนินการใดๆ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดให้มีวัคซีนภาคบังคับทั้ง 3 ประเภทในวัคซีนเดียวกันตามประมวลกฎหมายการสาธารณสุข ทั้งนี้ ภายในกำหนดระยะเวลา 6 เดือนนับแต่ได้รับแจ้งคำพิพากษาของสภาแห่งรัฐ คำขออื่นให้ยก ในกรณีของไทยขอยกตัวอย่าง คำวินิจฉัยชี้ขาดฯ ที่ 14/2548 กรณีติดเชื้อจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคสามารถฟ้องกรมการแพทย์ต่อศาลยุติธรรมได้ ปัญหาความชอบของข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 29 อ้างถึงข้อกำหนดฉบับที่ 27 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (รวมถึงข้อกำหนดฉบับที่ 29 ด้วย) เพื่อให้หน่วยงานของรัฐต่างๆ ดำเนินคดีกับผู้เผยแพร่เฟคนิวส์ (Fake news) ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายใดหรือไม่ มีประเด็นจากนักวิชาการว่า (1) ความไม่ชัดเจนและคลุมเครือ (Ambiguity) ตั้งแต่ต้นว่าอะไรคือ เฟคนิวส์ (Fake news) ที่ใช้ไทยคำว่า “ข่าวปลอม” “ข่าวลวง” รวมถึง “ข้อมูลบิดเบือน” การให้ "รัฐแต่ผู้เดียว" เป็นผู้ชี้ว่ากรณีนั้นๆ เป็นเฟคนิวส์หรือไม่อย่างไร เป็นการจำกัดเสรีภาพของสื่อและประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 เพียงใด (2) การนำเสนอข่าวของสื่อ และการแสดงความคิดเห็นของประชาชนต่อการทำงานของรัฐบาล “ที่อาสาเข้ามาบริหารประเทศแทนประชาชน” ย่อมทำได้เสมอตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ ตราบใดที่ไม่ได้มีเจตนาร้าย (actual malice) (3) ตามหลักกฎหมาย สื่อและประชาชนย่อมไม่มีความผิดกรณีเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ อันเป็นเท็จ หากขณะที่โพสต์พวกเขาเหล่านั้นไม่ทราบว่าข้อมูลที่กำลังเผยแพร่เป็นเฟกนิวส์ หาก "ไม่มีเจตนา" (4) "ข่าวจริง" หรือ "ข่าวปลอม" หาใช่รัฐบาลเป็นผู้ผูกขาดตัดสินแต่เพียงฝ่ายเดียว สิ่งที่รัฐบาลควรทำก็คือ การอธิบายชี้แจงข้อเท็จจริงกับสื่อและประชาชนมากกว่าการมุ่งดำเนินคดี (5) หากรัฐจะดำเนินคดีกับสื่อและประชาชนจริง ที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีเป็นการลงโทษของรัฐตามข้อกำหนดที่อ้างอิง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อาจขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นบทลงโทษที่รุนแรงมากเกินกว่าเหตุแห่งการกระทำความผิด (Disproportionate) (6) หากมีการบังคับใช้ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่มีลักษณะเป็นการล่วงละเมิดเสรีภาพในการนำเสนอข่าว หรือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อและประชาชน ทั้งๆ ที่การใช้เสรีภาพของพวกเขาบน "ความสุจริต" ไม่มีเจตนามุ่งร้าย หรือเจตนาที่จะเผยแพร่เฟคนิวส์ตามข้อ 1-5 ย่อมถือว่า รัฐใช้อำนาจไปโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญ (Unconstitutional) รวมถึงขัดต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (Illegal) เสียเอง ที่อาจต้องรับผิดทั้งในทางแพ่ง อาญา หรือทางวินัย และไม่สามารถยก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาเป็นเหตุเพื่อยกเว้นความรับผิดได้ ล่าสุดศาลแพ่งได้มีคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ พ 3618/2564 ณ วันที่ 6 สิงหาคม 2564 มีคำสั่งห้ามจำเลยดำเนินการบังคับใช้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2558 (ฉบับที่29) เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ตำรวจแถลงจะดำเนินคดีต่อผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล “ตำรวจเตือนห้ามวิจารณ์รัฐบาล” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 “ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต (3) ติชม ด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท“ เป็นคำเตือนที่บรรดานักกฎหมายออกมาวิพากษ์อย่างเสียไม่ได้ ตัวบุคคลในตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ถือเป็นบุคคลสาธารณะ (Public Figure) มีสิทธิ์ถูกวิพากษ์วิจารณ์การทำงานได้ “โดยสุจริต” ไม่ผิดกฎหมาย เพียงแต่ไม่ด่าในเรื่องส่วนตัว เพราะ การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลโดยสุจริต ไม่ผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐต้องไม่ทำตัวเป็นศาลยุติธรรม ออกมาตัดสินประชาชนเสียเอง เพราะปัจจุบันโลกโซเซียลคนไทยรู้ทันกฎหมายกันหมด ตามตัวอย่างศึกษา กรณีรัฐบาลถูกฟ้องเป็นจำเลย หรือรัฐบาลเป็นโจทก์ ฟ้องคดี ในคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้รัฐบาลใช้ค่าเสียหายในการที่ทรัพย์ของโจทก์ถูกระเบิดในระหว่างสงคราม กรณีนี้ โจทก์สามารถฟ้องรัฐบาลซึ่งไม่เป็นนิติบุคคลไม่ได้ เพราะรัฐบาลไม่เป็นนิติบุคคลตาม ป.พ.พ. รัฐบาลหาใช่นิติบุคคลตามกฎหมายไม่ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 724/2490 ย้อนดูข่าวแล้วอ่อนใจกับการบริหารประเทศในภาวะวิกฤติยิ่งนัก เป็นวิกฤติแห่งศรัทธาโดยแท้ที่ยากแก่การแก้ไขเพียงใดหรือไม่ วิญญูชนทั่วไปพิจารณาได้เอง ไม่จำต้องมีใครชี้นำจูงจมูก