สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์ พระเปิม ลำพูน นับเป็นพระสกุลลำพูนที่ได้รับความนิยมสูงอีกพิมพ์หนึ่ง ที่เรียกขานกันว่า “เปิม” นั้น สันนิษฐานว่าอาจเรียกขานกันตามลักษณะพิมพ์ทรงขององค์พระ คือ ไม่กลมและไม่แบน ทั้งด้านหน้าและหลังของ “พระเปิม” ตรงกลางจะนูน ส่วนด้านข้างลาด เพราะคำว่า “เปิม” แปลว่ากลมก็ไม่กลม แบนก็ไม่แบน เมื่อพิจารณาความเก่าของเนื้อขององค์พระแล้ว น่าจะเป็นพระที่สร้างรุ่นหลังพระรอดและพระคง มีอายุอยู่ในราว 800 – 900 ปี ผู้สร้าง จากอายุขององค์พระ สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างสมัยพระเจ้าอทิตยราช ที่ทรงค้ำจุนพระพุทธศาสนา ทำให้เป็นสมัยรุ่งเรืองที่สุดของอาณาจักรหริภุญไชย ทรงสร้างพระบรมธาตุหริภุญไชย และสร้างพระพิมพ์ คือ พระเปิม บรรจุในองค์ธาตุและสุวรรณเจดีย์หรือที่เรียกกันว่าวัดพระธาตุ ซึ่งเมื่อแตกกรุ เมื่อปี 2480 -2496 ทำให้พบพระพิมพ์นี้จำนวนมาก และยังพบในกรุวัดดอนแก้ว ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ใกล้ ๆ คนละฝั่งน้ำกวงซึ่งเนื้อหาและรูปทรงด้านหลังจะไม่อูมเหมือนกรุวัดพระธาตุฯ ซึ่งเซียนพระลำพูนรุ่นเก่าว่าเนื้อหาดูเก่ากว่าน่าจะทันสมัยยุคเจ้าแม่จามเทวี และอีกกรุหนึ่งคือพระเปิมกรุวัดจามเทวีซึ่งพิมพ์ทรงแตกต่างมีความชัดแต่เส้นสายใบโพธิ์ผิดกับกรุดอนแก้วและกรุวัดพระธาตุเนื้อหาอายุอ่อนกว่าอีกสองกรุ การค้นพบ พระเปิม มีการแตกกรุ ณ วัดพระธาตุ ในราวปี พ.ศ.2480 -2496 ทำให้พบพระพิมพ์นี้จำนวนมาก และยังพบในกรุวัดดอนแก้ว และ กรุวัดจามเทวีลำพูน โดยมีหลายพิมพ์และหลายขนาด พระเปิมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือ พระเปิม กรุวัดพระธาตุ รองมาคือ พระเปิม กรุวัดดอนแก้ว และ กรุวัดจามเทวี เนื้อหามวลสาร เนื้อหามวลสารของ พระเปิม จะเหมือนกับพระชุดสกุลลำพูนทั่วไป โดยเฉพาะเนื้อพระคง มีแร่ดอกมะขามตามเนื้อดินลำพูน มีเนื้อว่าน และมีราดำด้วยในบางองค์ ซึ่งส่วนมากเป็นกรุเจดีย์จะแห้ง และเนื้อพิมพ์ยังคมชัดไม่สึกกร่อนแต่มีคราบนวลดินและความหนึกนุ่ม เนียน เหมือนพระสมัยเจ้าแม่จามเทวีเช่นกัน เนื้อดินมีทั้งเนื้อละเอียด เนื้อหยาบ และเนื้อปนกรวด แต่โดยมากที่พบจะเป็นเนื้อละเอียด มีสีเหลืองนวลหรือแดงชมพู สีก้ามปูเผา และสีเขียว พุทธลักษณะ - เอกลักษณ์แม่พิมพ์ พุทธลักษณะองค์พระประธานประทับนั่งขัดสมาธิเพชร แสดงปางมารวิชัย เหนืออาสนะฐาน 3 ชั้น มีผ้าทิพย์ปูรองอีกชั้นหนึ่ง พื้นหลังเป็นผนังโพธิ์ พระเศียรโล้น ปรากฏเม็ดพระศกและไรพระศกชัดเจน - พระพักตร์เป็นแบบแตงโมผ่าซีก หรือเรียกว่า “หน้าแป้น” พระปรางอิ่ม พระขนงนูนและต่อกันแบบนกบิน พระเนตรนูนเกือบกลม รีช่วงหัวและท้าย คล้ายเม็ดงา พระนาสิกบาน ไม่โด่งมาก พระโอษฐ์ปรากฏชัดเจน - พระกรรณใหญ่และกว้าง เหมือนพระกรรณของพระพุทธรูป - พระวรกายค่อนข้างล่ำสัน จีวรแบบห่มคลุม มีเส้นขอบจีวรใต้พระศอ - พระอุระกว้างแต่แบนราบ ปรากฏพระถันทั้ง 2 ข้างชัดเจน พระนาภีบุ๋มลึก อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะประการหนึ่ง - พระพาหาอวบท้วม ด้านซ้ายพระกัประ (ข้อศอก) ไม่กาง - กิ่งโพธิ์มีใบโพธิ์ทุกกิ่ง ลักษณะวางหลังใบเหมือนใบลาน ส่วนใบโพธิ์มีลักษณะคล้ายใบมะยมและมีมากเป็นพิเศษ - ผ้าทิพย์เป็นเส้นวงกลม 2 เส้นขนานกัน มีเส้นรัศมีตัด 7 เส้น ลักษณะเล็กและคม - มีฐาน 3 ชั้น ฐานชั้นบนเป็นเส้นใหญ่ มีบัวไข่ปลาประดับแถวเดียวตรงกลางเส้น ส่วนขอบทั้ง 2 ข้างเป็นเส้นเล็กๆ ฐานชั้นกลางเป็นเส้นเล็กนูน ส่วนฐานชั้นล่างนั้นต่อเนื่องกับสุดขอบพระปรากฏรางๆ สำหรับ พระเปิม กรุวัดพระธาตุ จะมีความคมของเส้นสายรายละเอียดต่างๆ กิ่งโพธิ์ ก้านและใบโพธิ์จะงามพลิ้ว ฐานล่างสุดจะปรากฏลวดลายที่เป็นลายสลับฟันปลาเส้นเล็กๆ ทำเป็นรูปสามเหลี่ยม และในสามเหลี่ยมจะมีเม็ดบัวกลมๆ ประดับอยู่อย่างเป็นระเบียบและมีศิลปะดูงามตา องค์พระประทับนั่งอยู่บนฐาน ใต้ที่ประทับจะเห็นผ้าทิพย์ปูอยู่เป็นรูปครึ่งวงกลม ภายในผ้าทิพย์จะเป็นขีดเล็กๆ ขีดอย่างมีศิลปะ ใบโพธิ์ที่ติดอยู่กับก้านและกิ่งจะดูอ่อนช้อยพลิ้วไหวราวกับต้องลม สังเกตใบโพธิ์ จะมีรูปลักษณะคล้ายกับหัวของลูกธนูที่มีปลายแหลม ด้านหลังจะอูมหนากว่าพระเปิมกรุอื่นๆ แต่จะมีความเรียบร้อยกว่า พุทธคุณ พุทธคุณสูงส่งในด้านคงกระพันชาตรีเป็นที่ปรากฏเช่นเดียวกับพระคง โดยเฉพาะเรื่องอาวุธหนัก เรื่องตีรันฟันแทง นอกจากนี้ยังเด่นในด้านมหาอุดอีกด้วยครับผม