สำหรับมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ จัดสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2519 เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ราษฎร ตลอดจนเพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยไว้เป็นมรดกของปวงชนชาวไทยสืบไป
โดยมีพระราชดำริการจัดตั้งตอนหนึ่ง ว่า ‘….ข้าพเจ้านั้นภูมิใจเสมอมาว่า คนไทยมีสายเลือดของช่างฝีมืออยู่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ ชาวนา หรืออาชีพใด อยู่สารทิศใด คนไทยมีความละเอียดอ่อนและฉับไวต่อการรับศิลปะทุกชนิดขอเพียงแต่ให้เขาได้มีโอกาสฝึกฝน เขาก็จะแสดงความสามารถออกมาให้เห็น” (วันที่ 11 สิงหาคม 2532 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา)
ซึ่งศูนย์กลางงานศิลปาชีพนั้น ได้ดำเนินการจัดตั้ง โรงฝึกศิลปาชีพสวนจิตรลดา เมื่อปี 2522 และได้พัฒนาการดำเนินการอย่างก้าวหน้า ซึ่งผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นล้วนเป็นงานประณีตศิลป์ขั้นสูง มีความงดงามถึงระดับฝีมือช่างหลวงหรือ ช่างแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้แก่ ช่างถมทอง ช่างเครื่องเงินเครื่องทอง ช่างคร่า ช่างลงยาสี ช่างปักฝ้า ช่างแกะสลักไม้ ช่างเขียนลาย และช่างทอผ้า นับเป็น งานศิลป์ของแผ่นดิน อย่างแท้จริง โดยในปี 2553 โรงฝึกศิลปาชีพสวนจิตรลดา ได้ยกสถานะขึ้นเป็น สถาบันสิริกิติ์
เมื่องานศิลปาชีพ มีผลิตภัณฑ์และผลงานเป็นที่ประจักษ์ จึงได้ทรงพระกรุณาฯ จัดตั้งร้านจิตรลดา เพื่อจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์เป็นการถาวร ปัจจุบันร้านจิตรลดามีจำนวนทั้งสิ้น 12 สาขากว่า 30 ปีที่ผ่านมา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงขยายงานศิลปาชีพไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ
ในปัจจุบันมีศูนย์ศิลปาชีพ จำนวน 141 แห่ง ตัวอย่างเช่น โครงการศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นศูนย์รวมศิลปวัฒนธรรมในทุกภาค ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อให้มีการประกอบอาชีพอย่างผสมผสานทั้งอาชีพทางการเกษตร และการผลิตสินค้าประเภทศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ศูนย์ศิลปาชีพบ้านกุดนาขาม จังหวัดสกลนคร มีการเรียนการสอนหลายแผนก ศูนย์ศิลปาชีพบ้านบ้านทรายทอง จังหวัดสกลนคร ส่งเสริมอาชีพทอผ้าไหม ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม งานผ้าปัก งานจักสาน
รวมไปถึงศูนย์ศิลปาชีพบ้านแม่ตา จังหวัดลำปาง มีการเรียนการสอนหลายแผนก เช่น งานแกะสลัก งานจักสาน การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และการจักสานไม้ไผ่ เป็นต้น และศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีการฝึกสอนอาชีพ เช่นจักสานหวาย จักสานไม้ไผ่ ทอผ้าไหม ตัดเย็บเสื้อผ้าตุ๊กตาชาวเขา ดอกไม้ประดิษฐ์ เครื่องหนัง เป็นต้น ศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง จังหวัดนครศรีธรรมราช และศูนย์ศิลปาชีพ จังหวัดนราธิวาส
อย่างไรก็ตาม ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร ริมแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาทางด้านศิลปหัตถกรรมของไทย มุ่งเน้นการฝึกและส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกรในชนบท เพื่อเป็นรายได้พิเศษเพิ่มขึ้นจากช่วงที่ว่างจากงานเกษตรกรรม ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพฯ เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปเป็นอย่างมาก สามารถไปทางเรือตามลำน้ำ เจ้าพระยามาขึ้นที่ท่าของศูนย์ หรือไปทางรถยนต์
แต่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ทางศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ได้ดำเนินการจำหน่ายผ่านออไลน์เพื่อลูกค้าที่ต้องการสินค้าของศูนย์ศิลปาชีพ โดยมีร้านค้าออนไลน์บนเฟซบุ๊กของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป