สพฐ.จัดอัตราจ้างครูสาขาพิเศษ "รร.พญาไท"ต้นแบบห้องเรียนคู่ขนานเด็กมีความสุข
นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงการดูแลเด็กพิเศษของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า สพฐ.มีหน้าที่ให้การดูแลเด็กทุกกลุ่มอยู่แล้ว ซึ่งรวมถึงเด็กไม่มีความพร้อมทางด้านร่างกาย สติปัญญาโดยมีศูนย์ฟื้นฟูบำบัด ที่เรียกว่าศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัด และขณะนี้ได้ขยายไปยังอำเภอ เพื่อดูแลฟื้นฟูให้มีพัฒนาการ และยังมีการส่งเสริมให้นักเรียนกลุ่มนี้ได้เรียนรวมกับเด็กปกติในโรงเรียน ซึ่งจะช่วยให้มีพัฒนาการดียิ่งขึ้น เพราะถือว่าเด็กกลุ่มนี้ยังมีโอกาสที่จะพัฒนาให้สามารถช่วยเหลือตัวเองและเป็นคนดีของสังคมได้
"สพฐ.จะไม่ทอดทิ้งเด็กกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เป็นหน้าที่ที่ต้องดูแลเด็กทุกกลุ่ม โดยเฉพาะเด็กพิเศษที่จะต้องได้รับการดูแล ส่งเสริมให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น ขณะเดียวกัน ก็สนับสนุนส่งเสริมให้โรงเรียนที่มีความพร้อม จัดการศึกษาแบบเรียนรวมสามารถดำเนินการได้ โดยมีการจัดอัตราครูอัตราจ้างที่รับการพัฒนา และมีความรู้เพื่อดูแลเด็กกลุ่มนี้ด้วย นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่สังคมอาจจะยังไม่รู้ว่า สพฐ.เข้าไปดูแลฟื้นฟูบำบัด และจัดการศึกษาให้แก่เด็กที่อยู่ในโรงพยาบาล เด็กที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงด้วยเช่นกัน เพราะเราเชื่อว่าเด็กทุกคนพัฒนาได้"เลขาธิการ กพฐ.กล่าว
ด้านนายอำนวย พุทธมี ผอ.โรงเรียนพญาไท กล่าวว่า โรงเรียนพญาไท มีการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมมามากกว่า 10 ปีแล้ว โดยจ้างครูอัตราจ้างที่จบเอกการศึกษาพิเศษ โดยตรงมาดูแลเป็นการเฉพาะ แต่เด็กทุกคนที่จะเข้ามาเรียนห้องเรียนพิเศษที่โรงเรียนพญาไท จะต้องเป็นเด็กพิเศษจริง ๆ ที่ผ่านการตรวจและคัดกรองโดยแพทย์ และเด็กจะต้องมีไอคิวพอที่จะเรียนรู้ได้ โดยผู้ปกครองต้องยอมรับเข้าใจ และพร้อมที่จะให้การสนับสนุน ที่สำคัญต้องมีใบรับรองแพทย์มาด้วย
"โรงเรียนพญาไท จัดการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ 3 ลักษณะ เริ่มจากจัดเป็นห้องเรียนพิเศษคู่ขนาน เนื่องจากเด็กยังไม่สามารถเรียนรวมกับเด็กปกติได้ และเมื่อผ่านห้องเรียนพิเศษคู่ขนานมาแล้ว ก็จะพิจารณาให้ไปเรียนรวมได้ในบางวิชา ที่ไม่ต้องใช้ทักษะทางวิชาการ เช่น พลศึกษา ดนตรี การงานอาชีพ และเทคโนโลยี เป็นต้น และหากผ่านการคัดกรองโดยครูที่มีความเชี่ยวชาญที่ได้รับการรับรองแล้ว ก็จะสามารถเข้าเรียนกับเด็กปกติได้"
นายอำนวย กล่าวและว่า โรงเรียนพญาไท จัดการเรียนการสอนด้วยบรรยากาศที่ไม่มีความแตกแยก ระหว่างเด็กปกติกับเด็กพิเศษ ไม่มีการล้อเลียนกันซึ่งทำให้เด็กเรียนอย่างมีความสุข