หลังพบปัญหานำเครื่องมาใช้ในรพ.สนาม คนป่วยต้องเอกซเรย์ปอดวันละ 2 รอบ/คน และต้องมีการสัมผัสจับตัวคนไข้จัดท่ายืนให้ได้มุม ก่อความเสี่ยงกับเจ้าหน้าที่รังสี จึงปรับใช้เป็นวิธีการบังคับอุปกรณ์ไม่ต้องมีการสัมผัสตัวคนป่วย เผยจัดสร้างได้แล้ว 20 เครื่อง ด้วยเงินบริจาคส่งมอบให้รพ.สนามใช้จริงแล้ว ตกต้นทุน 6 หมื่น/เครื่อง อนาคตเตรียมพัฒนาไปใช้กับงานเอกซเรย์ผ่าตัดอื่นๆ ต่อไป พร้อมเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคสร้างเพิ่มส่งมอบรพ.สนามต่อไป นายสมจิตต์ ศรีสมพันธุ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด -19 ซึ่งเป็นปัญหาอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีผู้ป่วยติดเชื้อเป็นจำนวนมากในขณะนี้ จนทำให้ต้องขยายการรักษาออกไปยังโรงพยาบาลสนาม ซึ่งเป็นการรักษาโดยรวมผู้ป่วยให้อยู่ในบริเวณเดียวกัน นอกจากการรักษาโดยการใช้ยาแล้ว ยังจำเป็นต้องคอยตรวจสภาพร่างกายผู้ป่วยโดยการถ่ายภาพ (X-Ray) ปอด เพื่อการวินิจฉัยและติดตามการรักษา ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยโควิดจะต้องเอกซเรย์ปอดประมาณ 2 ครั้ง และถ้าโรงพยาบาลสนามแต่ละแห่งมีผู้ป่วยตั้งแต่ 50-200 คน ก็จะส่งผลให้ต้องมีการเอกซเรย์ปอดประมาณ 50 – 100 ครั้งต่อวัน ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์เวลาที่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วย และความเสียหายของแผ่นฉากรับรังสีที่มีมูลค่าสูงอีกด้วย ซึ่งวิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี ได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงปัญหาในการปฏิบัติงานดังกล่าว จึงได้คิดค้นสร้างนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ ลดความเสี่ยง ลดการสัมผัส ลดการใกล้ชิดผู้ป่วย เมื่อต้องการวินิจฉัยและการติดตามการรักษาด้วยการเอกซเรย์ปอด โดยได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จังหวัดสุพรรณบุรี นายอาทร คุ้มฉายา ครูหัวหน้าแผนกวิชาแมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ วิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี เล่าว่า “T -Rex เครื่องช่วยเอกซเรย์ปอดสำหรับผู้ป่วยโควิด” เกิดจากปัญหาที่จะต้องนำเครื่องเอกซเรย์ปอดซึ่งมีขนาดใหญ่มาประยุกต์ใช้งานชั่วคราวที่โรงพยาบาลสนาม ซึ่งปกติจะมีฉากรับรังสีที่ติดอยู่กับตัวเครื่องสามารถเลื่อนขึ้นลงให้ตรงกับตำแหน่งทรวงอกของผู้ป่วย โดยเมื่อมาติดตั้งในโรงพยาบาลสนาม จำเป็นต้องประยุกต์ใช้โดยการให้ผู้ป่วยกอดฉากรับรังสี ซึ่งบ่อยครั้งที่ผู้ป่วยแต่ละคนจะกอดฉากรับรังสีไม่ได้มุมที่จะถ่ายภาพเอกซเรย์ปอด เจ้าหน้าที่รังสีจึงจำเป็นต้องเข้ามาสัมผัสและช่วยเหลือผู้ป่วย ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ ตนจึงมีแนวคิดที่จะสร้างเครื่องควบคุมการทำงานด้วยอุปกรณ์ไร้สาย มีความสามารถในการเลื่อนแผ่นรับรังสีด้วยการควบคุมระยะไกล โดยหลังจากติดตั้งฉากรับรังสีเข้ากับอุปกรณ์แล้ว อุปกรณ์สามารถเลื่อนฉากรับรังสีในแนวดิ่ง เลื่อนขึ้นหรือเลื่อนลง ด้วยวิธีการบังคับการเคลื่อนที่โดยอุปกรณ์ไร้สาย ในระยะไกลให้อยู่ในตำแหน่งที่ต้องการเอ็กซเรย์ โดยให้ตรงกับตำแหน่งทรวงอกของผู้ป่วยแต่ละคน แล้วจึงถ่ายภาพรังสีด้วยเครื่องฉายรังสี วิธีการนี้เจ้าหน้าที่รังสีไม่จำเป็นต้องปรับแผ่นรับรังสีด้วยตัวเอง และผู้ป่วยไม่ต้องกอดแผ่นรับรังสีไว้บริเวณหน้าอก ทำให้เจ้าหน้าที่รังสีไม่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วยและไม่จำเป็นต้องใส่ชุดป้องกัน PPE ซึ่งปัจจุบัน วิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรีได้รับเงินบริจาคมาจัดสร้างโดยได้ระดมครูและนักศึกษาจิตอาสามาช่วยกันสร้างเครื่องดังกล่าว จำนวน 20 เครื่อง พร้อมกับได้ทยอยส่งมอบให้กับทางโรงพยาบาลสนามแล้ว สำหรับงบประมาณในการจัดทำเครื่องฯ อยู่ที่ประมาณ 60,000 บาทต่อหนึ่งเครื่อง โดยในอนาคตหลังสถานการณ์โควิดผ่านพ้นไป วางแผนว่าจะนำเครื่องดังกล่าวนี้ไปใช้ในงานเอกซเรย์เพื่อการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม สะโพกเทียม หรือกระดูกผิดรูปต่อไปได้ ทั้งนี้ หากท่านใดประสงค์จะบริจาคเพื่อจัดสร้างเครื่องดังกล่าว สามารถติดต่อได้ที่โทร.081-751-6603