ในขณะที่โลกกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จนต้อง Work From Home มีการสั่งปิดสนามเด็กเล่น สนามกีฬา แต่กระแสนิยมการเล่นเซิร์ฟสเก็ต(Surfskate) กลับกำลังแพร่หลายไปทั่วโลก เช่นเดียวกับในเด็กและวัยรุ่นไทย จนเป็นที่น่าวิตกถึงเรื่องความปลอดภัยและการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดฝัน รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวและหัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก (CSIP) ภาควิชากุมารเวชศาสตร์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึง "โรคภัยไข้เจ็บ" ที่เกิดในเด็กและวัยรุ่นว่าจริงๆ แล้วระหว่าง "เจ็บ" กับ "ไข้" เด็กและวัยรุ่นเสียชีวิตด้วยเรื่อง "เจ็บ" มากกว่า ซึ่งในที่นี้ หมายถึง "การบาดเจ็บ" ที่เกิดขึ้นจาก "อุบัติเหตุ" และ "ความรุนแรง" หากขาดการดูแลและเฝ้าระวังอย่างเหมาะสม สำหรับ "ไข้" นั้นหมายถึง"การป่วยไข้ด้วยโรคต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19" ที่แม้เด็กอาจไม่มีอาการรุนแรงเท่าผู้ใหญ่ แต่อาจเป็นพาหะ หรือส่งต่อเชื้อไปยังผู้สูงวัย และสมาชิกในครอบครัวที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงได้ การเล่นเซิร์ฟสเก็ตที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้ โดยมากเป็นการเล่นซึ่งนำไปสู่การบาดเจ็บ ไม่เหมาะสำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เพราะยังไม่สามารถทรงตัวในอุปกรณ์ที่เคลื่อนไหวนี้ได้ เนื่องจากการประสานงานของกล้ามเนื้อและสมองซึ่งนำไปสู่การรักษาสมดุลของร่างกายในการควบคุมอุปกรณ์เคลื่อนที่ด้วยความเร็วนั้นยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ส่วนเด็กที่มีอายุเกิน 5 ปีขึ้นไปเล่นได้ แต่จะต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดอาการบาดเจ็บ หรืออุบัติเหตุจากการเล่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่จะต้องกักตัวอยู่แต่ในบ้านไม่ควรเล่นเซิร์ฟสเก็ตในบ้านที่มีพื้นที่จำกัด ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายโดยไม่คาดฝันได้ ข้อดีของการเล่นเซิร์ฟสเก็ต นอกจากได้ออกกำลังกาย ฝึกกล้ามเนื้อ และการทรงตัวแล้ว ยังช่วยให้เด็กๆ ได้ฝึกทักษะEF (Executive Functions) ในการมุ่งสู่เป้าหมาย โดยตั้งใจไว้ว่าจะต้องเล่นให้เป็นให้ได้ แล้วเริ่มต้นฝึกเป็นขั้นตอน ยอมเริ่มจากขั้นตอนง่ายๆ มีผู้ดูแล ฟังคนสอน จำ และนำมาใช้จริง ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ และสุขใจจากการบรรลุเป้าหมายในการฝึกเป็นระยะๆ จากท่าง่ายๆ จนประสบความสำเร็จในท่ายากๆ นอกจากนี้ ควรฝึกให้เด็กรู้จักรับผิดชอบทั้งต่อตัวเอง คือสวมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หมวกกันกระแทก สนับเข่า และสนับศอก ฯลฯ ทุกครั้ง และรับผิดชอบต่อผู้อื่น โดยจะต้องไม่ออกไปเล่นเซิร์ฟสเก็ต บนท้องถนน หรือที่รถวิ่ง รวมทั้งจะต้องระมัดระวังไม่ให้ไปชนผู้สัญจรรอบข้างด้วย ซึ่งพื้นที่ที่เหมาะสมจะต้องเป็นพื้นที่กว้าง และปลอดภัย โดยยังควรต้องรักษาระยะห่างด้วยการสลับกันเล่น ซึ่งสถานการณ์วิกฤติ COVID-19 ที่ผ่านมาทำให้เด็กๆ ไม่ได้ไปโรงเรียน ไม่ได้ออกไปพบกลุ่มเพื่อน ต้องเผชิญกับความเครียด ไปจนถึงความสูญเสีย ฯลฯ ระยะหลังช่วงวิกฤติCOVID-19 จึงควรต้องหาทางฟื้นฟูเยียวยา เสริมทักษะเพิ่มพูนความสามารถในการเรียนรู้ ตลอดจนร่วมสร้างชุมชนที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันที่จะไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเด็กต่อไปในอนาคต ฐิติรัตน์ เดชพรหม มหาวิทยาลัยมหิดล ภาพประกอบออกแบบโดย วรรณพร ยังศิริ