วันนี้(11 ส.ค.)เป็นวันแรกที่สถาบันการคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากมาลงอยู่ที่ 1 ล้านบาทต่อบัญชีต่อรายสถาบันการเงิน จากเดิมอยู่ที่ 5 ล้านบาทต่อบัญชีต่อรายสถาบันการเงิน ตามกฎหมายคุ้มครองเงินฝาก โดย สคฝ. ได้รวบรวมรายละเอียดและสรุปการคุ้มครองเงินฝากไว้ สำหรับประชาชนที่ยังมีข้อสงสัยในเรื่องดังกล่าวดังนี้ คุ้มครองเงินฝากคืออะไร การคุ้มครองเงินฝากเป็นนโยบายของภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนผู้ฝากเงินมั่นใจฝากเงินกับสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครอง และเป็นการดูแลผู้ฝากเงินรายย่อยซึ่งเป็นผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ของแต่ละสถาบันการเงิน ทั้งนี้หากสถาบันการเงินภายใต้ความคุ้มครองถูกเพิกถอนใบอนุญาต จะได้รับการคุ้มครองภายในวงเงินและระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด สถาบันคุ้มครองเงินฝากก่อตั้งเมื่อ 11 สิงหาคม พ.ศ.2551 โดยมีการกำหนดวงเงินคุ้มครอง 1 ล้านบาท และเพื่อให้ผู้ฝากเงินเข้าใจและปรับตัวกับระบบการคุ้มครองเงินฝากแบบจำกัดจำนวน จึงได้กำหนดให้ปรับวงเงินคุ้มครองลดหลั่นลงตามลำดับ (จากความคุ้มครองเต็มจำนวน 50 25 15 10 5 และ 1 ล้านบาทตามลำดับ) โดยในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2564 จะถึงกำหนดการคุ้มครองเงินฝากที่ 1 ล้านบาทตามที่ได้กำหนดไว้ตามกฎหมาย วงเงินคุ้มครอง 1 ล้านบาทมีผลอย่างไร ผู้ฝากเงินทุกรายได้รับการคุ้มครองภายใต้วงเงินคุ้มครอง 1 ล้านบาท โดยผู้ฝากเงินที่มีเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาทจะได้รับความคุ้มครองเต็มจำนวน (ผู้ฝากเงินร้อยละ 98.03 ของผู้ฝากเงินทั้งหมดเป็นผู้ฝากเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท) ทั้งนี้ในส่วนของผู้ฝากเงินที่มีเงินฝากเกินกว่าวงเงินคุ้มครองในสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต จะได้รับความคุ้มครองตามวงเงิน คือ 1 ล้านบาท โดยในส่วนเกินจากวงเงินคุ้มครองจะอยู่ภายใต้การดำเนินการชำระบัญชีของสถาบันคุ้มครองเงินฝากต่อไป ทั้งนี้การเฉลี่ยทรัพย์ที่ได้จากการชำระบัญชีจะขึ้นกับมูลค่าทรัพย์ที่ได้รับการจัดการและตามระยะเวลาที่ดำเนินการ ผู้ได้รับการคุ้มครอง ผู้ฝากเงินทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โดยการคุ้มครองผู้ฝากเงินแต่ละราย (รวมกันทุกบัญชี) ต่อ 1 สถาบันการเงิน คำนวนจาก เงินต้น ดอกเบี้ย ทุกบัญชี ทุกสาขารวมกัน หักหนี้ที่เกินกำหนดชำระ (ของสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตเท่านั้น) ภายใต้วงเงินคุ้มครอง 1 ล้านบาท เงินฝากประเภทไหนที่ได้รับความคุ้มครอง เงินฝากเงินสกุลบาทและเป็นบัญชีเงินฝากภายในประเทศ ได้แก่ 1.เงินฝากกระแสรายวัน 2.เงินฝากออมทรัพย์ 3.เงินฝากประจำ 4.บัตรเงินฝาก และ 5.ใบรับฝากเงิน ฝากเงินกับสถาบันการเงินไหนได้รับความคุ้มครอง สถาบันการเงินภายที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครอง ณ ปัจจุบัน ประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์ไทย 19 แห่ง สาขาธนาคารต่างประเทศ 11 แห่ง บริษัทเงินทุน 2 แห่ง และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 3 แห่ง รวมทั้งสิ้น 35 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กรกฎาคม 2564) สามารถตรวจสอบรายชื่อสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองได้ที่ https://www.dpa.or.th/articles/view/list-of-insured-financial-institutions สถาบันการเงินปัจจุบันเป็นอย่างไร ปัจจุบัน สถาบันการเงินภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยฐานะที่เข้มแข็ง มีเงินกองทุน และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง