"ฝ่ายค้าน" บุก"ป.ป.ช." ยื่นสอบเอาผิดนายกฯ ปมใช้อำนาจออกประกาศปิดปากสื่อ ยันขัดรธน. ผิดม.157 -ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรง ด้าน "บิ๊กตู่" ลงนามยกเลิกประกาศปิดปากสื่อ หลังศาลฯสั่งคุ้มครองชั่วคราว ส่วน"ตร.ปทุมวัน" หิ้ว "ทนายอานนท์" ฝากขัง พร้อมแจ้ง3ข้อหา ปมจัดม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ 2 ส่วน "คฝ.-รถฉีดน้ำจีโน่" สแตนด์บาย รับคาร์ม็อบแยกราชประสงค์ พร้อมคลุมป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วน"คาร์ม็อบ"จัดแถวพรึบราชประสงค์ ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 10ส.ค.64 ตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้เดินทางยื่นหนังสือต่อป.ป.ช.เพื่อขอให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง และดำเนินคดีกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม จงใจใช้อำนาจหน้าที่ ขัดรัฐธรรมนูญ กรณีออกประกาศ ฉบับที่ 29 เพื่อปิดปากสื่อ ทั้งนี้ นายสุทิน คลังแสง ประธาน คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน กล่าวว่า การออกประกาศ ดังกล่าวเป็นการจำจัดเสรีภาพของสื่อ และข้อมูลข่าวสาร จนมีคณะบุคคลไปยื่นร้องต่อศาลทำให้ศาลแพ่งวินิจฉัยสั่งการให้คุ้มครองชั่วคราว เท่ากับข้อกำหนดนั้น ไม่มีผลบังคับใช้ ฝ่ายค้านจึงเห็นว่าการกระทำของนายกฯ และรัฐบาลมีความผิด คือ 1.จำกัดสิทธิบุคคลในเรื่องเสรีภาพ ด้านข้อมูลข่าวสาร ตามมาตรา 36 ของรัฐธรรมนูญ 2.มาตรา 172 ของ พ.ร.บ.ปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต 3.ประมวลกฎ หมายอาญา มาตรา 157 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและ 4.ฝ่าฝืน และไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ดังนี้เราจะปล่อยปละละเลยไม่ได้ จึงรวมกันมายื่นต่อ ป.ป.ช.ให้ดำเนินการไต่ สวนข้อเท็จจริงและดำเนินคดีกับนายกฯ มีบทบาทหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และเมื่อวินิจฉัยแล้วพบว่า มีความผิดตามที่เราร้องก็ส่งเรื่องนี้ไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อศาลประทับรับฟ้องจะต้องมีการสั่งให้นายกฯหยุดปฏิบัติหน้าที่ หรืออื่นใดสุดแล้วแต่ศาล ล่าสุด เว็ปไวต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 31 ) ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ มีรายละเอียดระบุว่า ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.63 และต่อมา ได้ขยายระยะเวลาการบังคับ ใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไป เป็นคราวที่ 13 จนถึงวันที่ 30 ก.ย.64 โดยที่ได้มีการออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 29 ) ลงวันที่ 29 ก.ค.64 แต่ต่อมาศาลแพ่งมีคำสั่งให้ระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดดังกล่าว เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น นายกฯจึงออกข้อกำหนดให้ยกเลิกข้อกำหนดดังกล่าวลงวันที่ 29 ก. ค.64 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค.64 เป็นต้นไป ขณะที่ พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้นำตัว นายอานนท์ นำภา แกนนำกลุ่มราษฎรฝากขังผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ หลังเข้ามอบตัว กรณีชุมนุม "เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาชน" หรือม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ 2 ที่หน้าหอศิลป์ฯ เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา พร้อมแจ้ง 3 ข้อหา คือความผิดตามมาตรา 112 ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินและใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เบื้องต้น นายอานนท์ ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา วันเดียวกัน พล.ต.ต.เมธี รักพันธุ์ ผบก.น.6 กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับกลุ่มผู้ชุมนุม นัดจัดกิจกรรมคาร์ม็อบ แสดงพลังขับไล่ทรราช ในเวลา 13.00น. ที่บริเวณแยกราชประสงค์ว่า ขณะนี้ได้นำผ้าสีขาวมาคุมป้าย ที่ถูกรื้อทำลายเมื่อวันที่ 7 ส.ค.64 ส่วนที่ด้านข้างประตูทางเข้าได้นำผ้าใบพลาสติกมาปิดบริเวณป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมทำลายหรือสาดสีใส่ป้าย นอกจากนี้ ได้จัดกำลังชุดควบคุมฝูงชน(คฝ.) กองร้อยน้ำหวาน จำนวน 2 กองร้อย เดินทางเข้ามาสแตนด์บายรอคำสั่งปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้ง เตรียมรถฉีดน้ำแรงดันสูง จำนวน 1 คัน และรถน้ำ 1 คัน รถควบคุมผู้ต้องหา 1 คัน รถเครื่องขยายเสียง 1 คัน เข้ามาจอดอยู่ภายในรั้วสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนบรรยากาศที่บริเวณแยกราชประสงค์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ และ มวลชนทยอยเดินทางมาปักหลัก พร้อมนำรถยนต์ปิดป้ายทะเบียน มาจอดรอตั้งแต่เวลา 11.00น. โดยคาดว่าจะมีการเคลื่อนขบวนไปกดดันตามสถานที่ต่างๆ