นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าเปิดเผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้ปรับตัวลดลงทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เป็นผลจากการที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid – 19 ที่ยังมีความรุนแรง มียอดผู้ติดเชื้อรายวันสูงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับภาครัฐได้มีการยกระดับความเข้มข้นของมาตรการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดง) งดออกจากบ้านในเวลา 21.00 – 04.00 น. และขอให้งดภารกิจที่ต้องออกเดินทางนอกเคหสถานหรือที่พำนักโดยไม่จำเป็นในเวลากลางวัน ยกเว้นเพื่อจัดหาอาหาร ยา พบแพทย์ รับวัคซีน และอาชีพจำเป็น โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนกรกฎาคม 2564 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 36.7 เทียบกับระดับ 42.7 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับตัวลดลงทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวลดลงจากระดับ 34.4 มาอยู่ที่ระดับ 29.8 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต พบว่า ปรับลดลงจากระดับ 48.1 มาอยู่ที่ระดับ 41.3 หากจำแนกรายภูมิภาค จะพบว่าลดลงในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคใต้ มีสัดส่วนการลดลงมากที่สุด จากระดับ 44.7 มาอยู่ที่ระดับ 36.8 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรปรับลดลง เช่น ยางพารา ทุเรียน และมังคุด เป็นต้น รองลงมาคือ ภาคเหนือ ปรับตัวลดลงจากระดับ 41.1 มาอยู่ที่ระดับ 34.7 กรุงเทพฯ และปริมณฑล จากระดับ 41.6 มาอยู่ที่ระดับ 35.8 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากระดับ 44.2 มาอยู่ที่ระดับ 38.7 และภาคกลาง จากระดับ 41.3 มาอยู่ที่ระดับ 36.1 ทั้งนี้เมื่อจำแนกรายอาชีพ ก็ปรับลดลงทุกกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษา ปรับลดลงจากระดับ 43.0 มาอยู่ที่ระดับ 33.1 เนื่องจากมีความกังวลต่อการประกอบอาชีพในอนาคตหลังจากจบการศึกษา ประกอบกับครอบครัวได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 รองลงมาคือกลุ่มพนักงานเอกชน ปรับลดลงจากระดับ 41.9 มาอยู่ที่ระดับ 35.2 กลุ่มพนักงานของรัฐ จากระดับ 48.6 มาอยู่ที่ระดับ 42.8 กลุ่มผู้ประกอบการ จากระดับ 41.9 มาอยู่ที่ระดับ 36.3 กลุ่มเกษตรกร จากระดับ 43.7 มาอยู่ที่ระดับ 38.1 กลุ่มรับจ้างอิสระ จากระดับ 39.7 มาอยู่ที่ระดับ 34.2 และกลุ่มไม่ได้ทำงาน จากระดับ 36.6 มาอยู่ที่ระดับ 32.2 และยังคงเป็นกลุ่มที่มีความเชื่อมั่นต่ำที่สุด เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 มากที่สุด และมีความไม่มั่นคงในการดำรงชีพ โดยจากการที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงครั้งนี้เป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid – 19 ที่ยังมีความรุนแรง มียอดผู้ติดเชื้อรายวันสูงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับประชาชนยังคงได้รับวัคซีนไม่ทั่วถึงในขณะที่มีการแพร่ระบาดมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ประกอบกับธุรกิจหลายประเภทไม่สามารถดำเนินการได้ จากการที่ภาครัฐประกาศยกระดับความเข้มข้นของมาตรการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดง) ใน 13 จังหวัด และได้ประกาศพื้นที่สีแดงเพิ่มอีก เป็น 29 จังหวัด ในเดือนสิงหาคม 2564 มีการจำกัดการเดินทางเข้า-ออกพื้นที่สีแดง ระบบการขนส่งสินค้าไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ไม่สามารถกระจายสินค้าได้ ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรลดลง เช่น ยางราคา ผลไม้ เป็นต้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความไม่เชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ