NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ "นักดาราศาสตร์กำลังให้ความสนใจจุดสว่างสีขาวที่เกิดขึ้นบริเวณแถบเข็มขัดเขตอบอุ่นใต้ (South Temperate Belt: STB) ของดาวพฤหัสบดี อยู่ใกล้กับจุดแดงใหญ่ (The Great Red Spot: GRS) คาดว่าอาจพัฒนากลายเป็นพายุลูกใหม่บนดาวพฤหัสบดีในอนาคต
จุดสีขาวดังกล่าวเริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีลักษณะคล้ายกลุ่มเมฆสีขาวที่มีความแปรปรวนสูง จากนั้นวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2564 กลุ่มเมฆดังกล่าวเริ่มยกตัวสูงขึ้นบนชั้นบรรยากาศดาวพฤหัสบดี ปรากฏเห็นเป็นจุดสีขาวได้ชัดเจนขึ้น แต่เมื่อสังเกตการณ์ในช่วงความยาวคลื่นของมีเทน พบว่าจุดดังกล่าวยังปรากฏสว่างไม่มากนัก จนกระทั่งวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2564 สามารถสังเกตเห็นจุดสีขาวนี้ได้อย่างชัดเจนทั้งในช่วงคลื่นแสงที่ตามองเห็น ช่วงรังสีอินฟราเรด และช่วงความยาวคลื่นของมีเทน ทำให้นักดาราศาสตร์ต่างให้ความสนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งเชิญชวนให้นักดาราศาสตร์ทั่วโลกเฝ้าติดตาม และรายงานข้อมูล เพื่อศึกษาว่าจุดดังกล่าวจะวิวัฒนาการเป็นพายุบนดาวพฤหัสบดีได้หรือไม่
ไม่ว่าท้ายที่สุดจุดสว่างดังกล่าวจะกลายเป็นพายุบนดาวพฤหัสบดี หรือสลายตัวลงเป็นแถบเมฆบนดาวพฤหัสบดี ก็เป็นเหตุการณ์ที่น่าจับตามอง และศึกษาชั้นบรรยากาศบนดาวพฤหัสบดีต่อไป หากจุดสว่างนี้สามารถก่อตัวเป็นพายุขึ้นมาได้ ก็เหมาะที่จะเป็นเป้าหมายใหม่ของยานอวกาศจูโนในการสำรวจในครั้งถัดไป โดยยานอวกาศจูโนจะโคจรเข้าไปใกล้ดาวพฤหัสบดีอีกครั้งในวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2564 ที่จะถึงนี้
เรียบเรียง : ธนกฤต สันติคุณาภรต์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.
ภาพ : ดาวพฤหัสบดี บันทึกผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.4 เมตร ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564"