ยังคงเดินหน้าวิจัยพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ตามคุณสมบัติของมนุษย์เรา ที่ต้องการเอาชนะกับภัยคุกคามด้านต่างๆ เพื่อความอยู่รอด ซึ่งได้ประสบพบเห็นกันในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติตลอดห้วงเวลาที่ผ่านมา
อย่างกรณีวิกฤติโรคโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดในพื้นที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก จนมีผู้ป่วยติดเชื้อมากกว่า 200 ล้านคน พร้อมกับคร่าชีวิตผู้ป่วยให้ดับดิ้นไปกว่า 4 ล้านคน ในเวลานี้ ก็ปรากฏว่า ที่ผ่านมา มนุษย์เราก็ได้คิดค้น วิจัย และพัฒนา ทั้งยา เวชภัณฑ์ ที่ใช้บำบัดรักษาอาการป่วย รวมถึงวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสมรณะชนิดนี้ ออกมารับมือต่อสู้อยู่เป็นระยะ
อาทิเช่น ยาต้านไวรัสขนานต่างๆ อย่าง “ฟาวิพิราเวียร์” และ “เรมเดซิเวียร์” เป็นต้น หรือถึงขนาดประยุกต์วิจัยยาฆ่าพยาธิขนาน “ไอเวอร์เม็กติน” มาใช้รักษาให้แก่ผู้ป่วยโควิดในบางประเทศ ก็มีเช่นกัน
ขณะที่ ในส่วนของวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็มีหลายขนานจากบรรดาบริษัทเวชภัณฑ์ใน
ประเทศต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นขนานซิโนแวค และซิโนฟาร์ม จากประเทศจีน ซึ่งใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบเชื้อตาย
ขนาน “สปุตนิก วี” จากสถาบันกามาเลยา ประเทศรัสเซีย ที่เป็นวัคซีนแบบไวรัลเวกเตอร์ เช่นเดียวกับขนาน “แอสตราเซเนกา” ที่วิจัยพัฒนาโดยบริษัทแอสตราเซเนกา ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ รวมถึงวัคซีนขนานของ “จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน” จากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นวัคซีนที่ใช้เพียงเข็มเดียว แตกต่าจากขนานอื่นๆ ที่ฉีด 2 เข็ม ก็ใช้เทคโนโลยีไวรัลเวกเตอร์เป็นพาหะเช่นเดียวกันนี้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางร่ายกายให้แก่ผู้ฉีด
นอกจากนี้ก็ยังวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีแบบที่เรียกว่า “เชื้อเป็น” หรือ “เอ็มอาร์เอ็นเอ” ซึ่งเรียกกันจนติดปากอีกหลายขนาน เช่น “ไฟเซอร์” ซึ่งเป็นวัคซีนที่วิจัยพัฒนาโดยบริษัทไฟเซอร์อิงค์ ในสหรัฐฯ ร่วมกับบริษัทไบโอเอ็นเทค ในเยอรมนี และขนาน “โมเดอร์นา” ที่วิจัยพัฒนาโดยบริษัทโมเดอร์นา ประเทศสหรัฐฯ
ใช่แต่เท่านั้น โลกเราก็ยังมีวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีการแบบ “รีคอมบิแนนท์ นาโนพาร์ติเคิล” ซึ่งแม้ใช้เวลานานกว่าวัคซีนขนานที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบเอ็มอาร์เอ็นเอ แต่ก็ไม่ซับซ้อนและผลิตง่ายกว่า อย่างวัคซีนขนาน “โคโวแวกซ์” หรือที่เรียกกันติดปากว่า “โนวาแวกซ์” ซึ่งวิจัยพัฒนาโดยบริษัทโนวาแวกซ์ ในประเทศ ที่มีประสิทธิภาพด้านการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ดีอีกขนานหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ดี วัคซีนขนานต่างๆ เหล่านี้ จะนำเข้าสู่ร่างกายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้นั้น ก็ต้องใช้วิธีการฉีด คือ ใช้เข็มฉีดวัคซีนที่มีสถานะเป็นของเหลวเข้าสู่ร่างกายแต่เพียงวิธีเดียวเท่านั้น ซึ่งจำนวนไม่น้อยของผู้ที่เข้ารับการฉีดก็เกิดอาการ “กลัวเข็ม” คือ กลัวเข็มฉีดยาอันแหลมเปี๊ยบ นั่นเอง
นอกจากนี้ วัคซีนขนานที่เป็นสถานะของเหลวเหล่านี้ ก็ต้องมีระบบจัดเก็บภายในสถานที่ที่มีอุณหภูมิพอเหมาะ โดยทุกขนานก็ต้องเก็ไว้ในสถานที่ที่มีอากาศเย็น บางขนานก็ต้องติดลบหลายสิบองศาเซลเซียส มิเช่นนั้นวัคซีนก็จะเสื่อมประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างวัคซีนขนานไฟเซอร์ เป็นต้น ทำให้ยากต่อการจัดเก็บ
ด้วยปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ทำให้เกิดการคิดค้น วิจัยพัฒนา วัคซีนที่ง่ายต่อการจัดเก็บ และแก้ปัญหาเรื่องที่ผู้รับการฉีดวัคซีนกลัวเข็มกันขึ้น จนเป็นที่มาของวัคซีนชนิดผง และชนิดเม็ด ซึ่งมีความคืบหน้าในการวิจัยพัฒนาไปเป็นอย่างมาก ณ เวลานี้
โดยเป็นผลงานจากห้องปฏิบัติการทดลองทางวิทยาศาสตร์ หรือห้องแล็บ ของ “อิโคโนโว” บริษัทเวชภัณฑ์ ที่ “เมดิคอน วิลเลจ” ซึ่งเป็น “อุทยานทางวิทยาศาสตร์” ขนาดใหญ่ ในเมืองลุนด์ ทางตอนใต้ของประเทศสวีเดน ได้วิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 แบบ “ผง” ซึ่งใช้สูดพ่นเข้าทางจมูก เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันแก่ร่างกายไม่ให้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19
ตามการเปิดเผยของ ดร.อิงเกโม แอนเดอร์สสัน นักเคมีประจำห้องแล็บดังกล่าว ซึ่งได้โชว์อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับสูดพ่น มีขนาดราวครึ่งหนึ่งของกล่องไม้ขีดไฟขึ้นมาประกอบ
ก่อนที่นายโยฮัน วาบอร์ก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอ ของบริษัทอิโคโนโว เปิดเผยว่า การผลิตวัคซีนชนิดนี้ก็ทำได้โดยง่ายและต้นทุนก็ต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนชนิดเหลว ซึ่งวัคซีนที่ว่านี้ก็คล้ายกับยารักษาโรคหอบหืด ที่ใช้วิธีการสูดพ่น โดยทางบริษัทอิโคโนโว ก็ผลิตยาสูดพ่นรักษาโรคหอบหืดกันอีกขนานหนึ่งเป็นประจำเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
วิธีการใช้งานวัคซีนแบบผงนั้น ก็ “เพียงดึงแผ่นพลาสติกขนาดเล็กที่ปิดบนอุปกรณ์สูดพ่นออก เท่านี้วัคซีนก็พร้อมใช้งานแล้ว ก่อนใส่อุปกรณ์ที่ว่าเข้าปาก จากนั้นก็หายใจลึกๆ เพื่อสูดผงวัคซีนเข้าไปในร่างกาย” ซีอีโอของอิโคโนโวกล่าว
โดยวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ชนิดผงนี้ ทางบริษัทอิโคโนโว วิจัยพัฒนาร่วมกับ “ไอเอสอาร์” บริษัทสตาร์ทอัพ ที่วิจัยด้านภูมิคุ้มกันวิทยา ในกรุงสตอกโฮล์ม เมืองหลวงของสวีเดน ซึ่งในวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ชนิดผง ก่อนหน้า
เทคโนโลยีที่สองบริษัทคู่หูวิจัยพัฒนาในครั้งนี้ ก็ใช้วิธีนำโปรตีนที่สร้างขึ้นโดยเลียนแบบโปรตีนของเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 มาสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย ซึ่งวิธีดังกล่าว แตกต่างจากวัคซีนชนิดเหลวขนานของไฟเซอร์ โมเดอร์นา และแอสตราเซเนกา ที่ใช้ “อาร์เอ็นเอ” หรือ “ดีเอ็นเอ” มาถอดรหัสพันธุกรรมให้ได้เป็นโปรตีนข้างต้น
ศ.โอลา วินควิสท์ ผู้ก่อตั้งบริษัทไอเอสอาร์ และเป็นศาสตราจารย์ ภาควิชาภูมิคุ้มกันวิทยาแห่งสถาบันคาโรลินสกา ประเทศสวีเดน เปิดเผยว่า คุณสมบัติอันโดดเด่นของวัคซีนชนิดผงประการหนึ่ง ก็คือสามารถทนทานอุณหภูมิสูงได้ถึง 40 องศาสเซลเซียส ทำให้การจัดเก็บง่ายกว่าวัคซีนชนิดเหลวขนานต่างๆ ที่ต้องควบคุมอุณหภูมิให้ต่ำ เพื่อรักษาประสิทธิภาพของวัคซีน อันจะส่งผลให้การกระจายไปตามสถานที่ต่างๆ แม้ในถิ่นทุรกันดารได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญในยุทธศาสตร์การรับมือโรคโควิด-19 ได้เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ในเวลานี้ วัคซีนชนิดผงเพิ่งอยู่ในขั้นตอนการทดลองในหนู ส่วนการทดลองจะมีขึ้นในอีก 2 เดือนข้างหน้า ที่มีภาคส่วนต่างๆ พากันมาสนับสนุนด้านเงินทุน
นอกจากวัคซีนชนิดผงแล้ว ทาง “ซิคคุม” อีกหนึ่งบริษัทด้านเวชภัณฑ์ในสวีเดน ก็เปิดเผยแนวคิดการทำวัคซีนชนิดผง ขยับปรับไปสู่การวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ชนิดเม็ด ใช้สำหรับรับประทาน ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย หากประสบผลสำเร็จ วัคซีนทั้งชนิดผงและเม็ด ก็จะเป็นอาวุธสำคัญในการเผด็จศึกโรคโควิด-19 ให้แก่มนุษยชาติเราครั้งใหญ่เลยทีเดียว