เทศบาลนครขอนแก่น พาชุมชนปลูกเห็ด สู้ภัยโควิด-19 ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ปลูกกินเองได้ทั้งบ้าน เหลือให้แบ่งปัน นำร่อง 40 หลังคาเรือน พร้อมเร่งขยายครอบคลุมทุกพื้นที่ด้วยโครงการที่ชุมชนต้องการ เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 10 ส.ค.2564 ที่ชุมชนโพธิบัลลังก์ทอง ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น พร้อมคณะผู้บริหารเทศบาลฯและสมาชิกสภาเทศบาลฯลงพื้นที่เยี่ยมชมและให้กำลังใจครัวเรือนต้นแบบของชุมชน ที่เข้ารับการฝึกอบรมการเพาะเห็ดฟางก้อนและเห็ดฟางในตะกร้า ตามแผนการดำเนินงานของกองทุนตั้งตัว ที่ได้รับการพิจารณาจัดสรรในงบประมาณประจำปี 2564 โดยชุมชนโพธิบัลลังก์ทอง มีครัวเรือนที่ได้รับการเข้าร่วมโครงการเพาะเห็ดฟางชุดแรก 20 หลังคาเรือน ท่ามกลางมาตรการควบคุมและป้องกันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดจากโควิด-19 อย่างเข้มงวด นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวว่า โครงการเพาะเห็ดฟางแบบก้อนและแบบตะกร้าเป็นโครงการที่ชุมชนชลประทานและชุมชนโพธิบัลลังก์ทอง ในเขตเทศบาลนครขอนแก่นได้ทำโครงการเสนอผ่านในระดับชุมชนขึ้นเพื่อขอรับการสนับสนุนตามงบประมาณของกองทุนตั้งตัวชุมชนละ 20 หลังคาเรือน ซึ่งในวันนี้ได้เข้าสู่กระบวนการการเรียนการสอนจากวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านเห็ดทั้งระบบ โดยในการอบรมนั้นเน้นการทำจริง ปฎิบัติจริงและนำกลับไปใช้งานที่บ้านได้จริง โดยเฉพาะในกลุ่มเห็ดก้อนและเห็ดตะกร้า ที่สามารถปลูกไว้รับประทานได้ภายในครัวเรือน ในครอบครัว เหลือก็แบ่งปันกันในชุมชน “การนำเสนอโครงการนั้นขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละชุมชน ซึ่ง 2 ชุมชนดังกล่าวนี้ได้นำเสนอในการเพาะเห็ดฟาง นำร่องชุมชนละ 20 ครัวเรือน หรือบ้าน 20 หลัง ที่ทั้งหมดได้มาเข้ารับการฝึกอบรม และเรียนรู้วีการเพาะเห็ดฟาง ตั้งแต่การเรียนรู้ในเรื่องของการผสมเชื้อเห็ด การผสมสัดส่วนของก้อนเห็ดทั้งแบบก้อนและแบบตะกร้า ในการวางลำดับชั้นเห็ดในแบบตะกร้า การผสมเชื้อเห็ด การรู้เทคนิควิธีการให้อาหารเห็ดหรือหารเสริม การทำก้อนเห็ดตามส่วนผสมที่ถูกต้องของเดและละสายพันธุ์ การให้น้ำ การกำจัดศัตรูพืช ซึ่งทุกครอบครัวจะต้องช่วยกันทำและเรียนรู้ในการเตรียมพื้นที่หรือการเพาะเลี้ยงเห็ดตั้งแต่การแยกก้อนเชื้อไปจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตของตนเอง” นายธีระศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า ทุกชุมชนสามารถที่จะนำเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนตั้งตัว ของเทศบาลนครขอนแก่นได้ตามบริบทของแต่ละชุมชน บางชุมชนเสนอเลี้ยงปากระชัง, บางชุมชนเสนอการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรพื้นบ้าน,บางชุมชนเรียนที่จะทำผลิตภัณฑ์อาการแปรรูป พวกปลาส้ม,แจ่วบอง,กุนเชียง,หมูยอ หรือบางชุมชนเน้นด้านการเกษตรด้วยการปลูกผักออแกนิค หรือดอกไม้สายพันธุ์ต่างๆ ซึ่งทั้งหมดคณะทำงานร่วมระหว่างเทศบาลและชุมชนจะมีการประเมินและจัดกระบวนการการอบรม การเรียนการสอน และการติดตามผลการดำเนินงาน คือเป็นการบริหารจัดการร่วมกันระหว่างชุมชนกับเทศบาลอย่างครอบคลุมทั้งระบบ เพื่อให้เกิดผลผลิตและผลสัมฤทธิ์จากโครงการที่นำเสนอขึ้นมา ซึ่งโครงการเพาะเห็ดฟางของทั้ง 2 ชุมชน รวม 20 ครัวเรือน จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ภายใน 4 -7 สัปดาห์ ซึ่งผลผลิตที่เกิดขึ้นนั้นเน้นการบริโภคภายในครัวเรือนเป็นหลักซึ่งถือเป็นการสร้างคลังอาหารให้เกิดขึ้นในครัวเรือนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่สามารถที่จะแบ่งเบาภาระได้จากผลิตในครัวเรือนขณะเดียวกันหากผลผลิตที่เกิดขึ้นนั้นมีจำนวนมากก็สามารถที่จะแบ่งปันให้กับครัวเรือนข้างเคียงหรือในชุมชน เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระด้านรายจ่ายให้กับคนในชุมชนจากการเพาะเห็ดฟางที่เกิดขึ้นจากฝีมือของคนในชุมชนได้อีกด้วย