เมื่อวันที่ 10 ส.ค. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมกับกองทัพอากาศและกองทัพบก ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 8 หน่วยปฏิบัติการ ปฏิบัติการ 2 ภารกิจ คือ ภารกิจที่ 1 การช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่มีปริมาณน้ำค่อนข้างไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูก เนื่องจากปริมาณฝนค่อนข้างน้อยและเกษตรกรมีความต้องการปริมาณน้ำฝนเพื่อเติมเต็มให้กับพื้นที่การเกษตร และภารกิจที่ 2 การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ซึ่งผลปฏิบัติการพบว่า ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.พะเยา ลำปาง กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก อุทัยธานี นครสวรรค์ ชัยนาท อ่างทอง สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลราชธานี มหาสารคาม รวมถึงสามารถเพิ่มปริมาณน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อน จำนวน 2 แห่ง อ่างเก็บน้ำ จำนวน 2 แห่ง และบึงบอระเพ็ด นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านการติดตามข้อมูลสภาพอากาศจากแผนที่อากาศผิวพื้นของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ขณะนี้หย่อมความกดอากาศต่ำ (L) อยู่บริเวณ สปป.ลาวตอนบนถึงบริเวณตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ประกอบกับมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังอ่อนลง ซึ่งลักษณะดังกล่าวจะส่งผลให้ประเทศไทยบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับอิทธิพลจากหย่อมความกดอากาศต่ำและมีโอกาสเกิดฝนได้ และภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามันมีแนวโน้มเกิดฝนหนักได้ ซึ่งทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศแจ้งเตือนฝนตกหนักบริเวณ จ.ระนอง พังงา ตรัง และสตูล ทั้งนี้ บริเวณพื้นที่ภาคอื่นๆ ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดฝนได้ด้วย ซึ่งทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะติดตามเงื่อนไขสภาพอากาศเพื่อปฏิบัติการฝนหลวงเสริมให้มีปริมาณฝนมากขึ้นและกระจายตัวมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ที่มีความต้องการน้ำอย่างต่อเนื่องต่อไป สำหรับการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงในเช้าวันนี้ ผลการตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์ฝนหลวงทั่วประเทศพบว่า บริเวณพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จึงมีการวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 3 หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่ -หน่วยฯ จ.กาญจนบุรี ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.กาญจนบุรี สุพรรณบุรี และเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนในพื้นที่ -หน่วยฯ จ.สุรินทร์ ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ร้อยเอ็ดมหาสารคาม สุรินทร์ ศรีสะเกษ -หน่วยฯ จ.นครราชสีมา ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.นครราชสีมา และบุรีรัมย์ ทั้งนี้ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 3 หน่วย ไม่มีการปฏิบัติการฝนหลวง ได้แก่ หน่วยฯ จ.ตาก เนื่องจากเจ้าหน้าที่งดเข้าสนามบินตั้งแต่วันที่ 6-10 ส.ค.64 และกักตัวอยู่ในสถานที่ตั้งเพื่อเฝ้าระวังสังเกตอาการ Covid-19 หน่วยฯ จ.สุราษฎร์ธานี เนื่องจากเจ้าหน้าที่สังเกตอาการผลข้างเคียงจากการเข้ารับการฉีดวัคซีน Covid-19 และหน่วยฯ จ.สงขลา เนื่องจากเครื่องบินกองทัพอากาศเข้ารับการตรวจพิเศษประจำสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง อีก 7 หน่วย จะยังคงติดตามสภาพอากาศตลอดทั้งวัน หากสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงและเข้าเงื่อนไขในการปฏิบัติการฝนหลวง จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายทันที ซึ่งพี่น้องเกษตรกรและประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวง ติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และแจ้งข้อมูลข้อมูลเชิงพื้นที่ เช่น ปริมาณฝน ความต้องการน้ำในการทำการเกษตร ซึ่งเป็นข้อมูลที่ใช้ประกอบการตัดสินใจในการวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้ที่ช่องทาง Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account: @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100