ขณะที่จ.สุพรรณบุรียังไม่มีรายงานพบสายพันธุ์เดลตาเข้ามา ทำให้ภาพรวมสายพันธุ์เดลตาเบียดสายพันธุ์อัลฟาไปแล้วเกือบ 92% ส่งผลให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ทะยานขึ้น 2 หมื่นเพราะสายพันธุ์เดลตาระบาดได้ง่าย วอนปชช.ต้องเคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคลเข้มข้น/ย้ำการตรวจภูมิที่มีการแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์เป็นการขึ้นของภูมิภาพรวมไม่สามารถเจาะจงว่าจัดการสายพันธุ์โควิดได้หรือไม่ เมื่อวันที่ 10 ส.ค.64 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงผลการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทย โดยกรมวิทยาศาสตร์ฯ สธ. ร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ว่า แนวโน้มในภาพรวมของประเทศจากข้อมูลการเฝ้าระวังระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม ถึง วันที่ 6 สิงหาคม 2564 จากการสุ่มตรวจผู้ติดเชื้อประมาณ 1,632 ราย เป็นสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) จำนวน 1,499 ราย คิดเป็น 91.9% สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) จำนวน 129 ราย คิดเป็น 7.9% และสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) จำนวน 4 ราย คิดเป็น 0.2% โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สุ่มตรวจ จำนวน 1,157 ราย เป็นสายพันธุ์เดลตา จำนวน 1,104 ราย คิดเป็น 95.4% สายพันธุ์อัลฟา จำนวน 53 ราย คิดเป็น 4.6% ส่วนสายพันธุ์เบตาไม่พบผู้ติดเชื้อ ส่วนภูมิภาคสุ่มตรวจ จำนวน 476 ราย เป็นสายพันธุ์เดลต้า 395 ราย คิดเป็น 83.2% สายพันธุ์อัลฟา 76 ราย คิดเป็น 16.09% และสายพันธุ์เบตา 5 ราย คิดเป็น 0.8% นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันเราพบผู้ป่วยโคสิด-19 จากสายพันธุ์เดลตาถึง 76 จังหวัด โดยจ.สุพรรณบุรียังไม่มีรายงานเข้ามา ซึ่งเป็นธรรมชาติของสายพันธุ์นี้ที่สามารถแพร่กระจายได้ง่าย ทำให้เห็นยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันขึ้นไปถึง 2 หมื่นราย จึงต้องย้ำถึงประชาชนที่ต้องเคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคล เว้นระยะห่าง ใส่หน้ากาก ไม่เข้าไปในพื้นที่ระบาด แออัด ส่วนสายพันธุ์เบตา สัปดาห์นี้พบเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ พบมากที่สุดที่ จ.ภูเก็ต 3 ราย จ.พัทลุง 1 ราย ส่วนกรณีพบมีบุคคลผู้มีชื่อเสียงได้ออกมาแสดงผลการตรวจภูมิ นพ.ซุภกิจ กล่าวย้ำว่า การตรวจแบบนั้นไม่คุ้มที่จะทำ เพราะผลที่ได้เป็นการขึ้นของภูมิในภาพรวม ไม่ได้เจาะจงหรือวัดได้ว่าสามารถจัดการสายพันธุ์อัลฟา เดลตา หรือสายพันธุ์อื่นได้ ซึ่งจะยิ่งทำให้เกิดความสับสนไปได้