เมื่อวันที่ 10 ส.ค. นายไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า
ข้อสังเกต เกี่ยวกับ ร่างพระราชกำหนดจำกัดความรับผิด [1] ลักษณะลีลา และภาษา ของร่างพระราชกำหนดนี้ วงการเซียนกระบี่เห็นแล้ว ก็ย่อมรู้ว่า เป็นฝีมือเทียบชั้นเดียวกันกับคณะศรีธนญชัยซึ่งเกี่ยวข้องกับการยกร่างพระราชกำหนดนิรโทษกรรมสุดซอยในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลักนิติรัฐ หลักโลกนิติ ธรรมนิติ และราชนีติ แต่จะแตกต่างกัน 2 ประการคือ ก. การนิรโทษกรรมสุดซอยนั้นเกี่ยว กับความเสียหาย ทางการเงิน ประมาณ 5 แสนล้านบาท ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิต 5000 ศพ และผู้ป่วยหลายแสนคน และยังมีความเสียหายหลายภาคส่วนหลายล้านล้านบาท ข. การนิรโทษกรรมสุดซอยนั้น ยอมรับว่ามีการกระทำความผิด แต่นิรโทษกรรมให้ โดยให้อำนาจของผู้แทนปวงชนคือสภาเป็นผู้พิจารณา นับว่ามีความกล้าหาญในการแสดงความรับผิด แต่ร่างพระราชกำหนดนี้ ไม่ยอมรับความผิด แต่จำกัด ความรับผิดที่ใครจะฟ้องร้องดำเนินคดีไม่ได้ [2] จำกัดความรับผิดคือห้ามฟ้องร้องดำเนินคดี กับบุคคล 2 ประเภท ก. บุคลากรทางการแพทย์พยาบาล ที่ให้การรักษาผิดพลาด ข. บุคคลหรือคณะบุคคล ที่มี"หน้าที่"ในการจัดหาและ"บริหารจัดการ"เกี่ยวกับวัคซีน บุคคลเหล่านี้ ใครจะฟ้องร้องดำเนินคดีไม่ได้ "แต่ไม่รวมถึงนายกรัฐมนตรี" ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งถัามีกรณีใดที่เกิดความเสียหาย ก็มีหน้าที่ต้องมีคำสั่งให้ระงับ-ยกเลิก-แก้ไขการกระทำนั้น ซึ่งเป็นหน้าที่รับผิดชอบต่างหาก ซึ่งคุณยิ่งลักษณ์เคยถูกพิพากษาจำคุกเพราะเรื่องนี้มาแล้ว ไหนๆก็ไหนๆแล้ว ทำไมไม่เขียนให้ครอบคลุมไม่ให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องรับผิดด้วยล่ะ หรือว่าจะคิดตัดช่องน้อยแต่พอตัวกัน ให้นายกรัฐมนตรีรับผิดชอบคนเดียว ก็รีบเติมเสียให้ครบถ้วนในระหว่างการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีสิครับ [3] เสี่ยงต่อปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ในการออกพระราชกำหนดจะกระทำได้ต่อเมื่อ "มีความจำเป็นเร่งด่วน" ในขณะนี้สภายังเปิดสมัยประชุมอยู่ รัฐบาลมีเสียงข้างมากสามารถเสนอต่อสภาให้พิจารณา 3 วาระก็ได้ ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่กี่วัน แต่ที่เร่งด่วนมากกว่าคือ"การแก้ไขความผิดพลาดล้มเหลวในการจัดหาและการบริหารวัคซีน" ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิต และความเจ็บป่วยของประชาชน จำนวนมากทั่วประเทศ จะมีอะไรจำเป็นเร่งด่วนไปกว่าการป้องกันแก้ไขไม่ให้คนตายและป่วยเจ็บล่ะครับ [4] ร่างพระราชกำหนดนี้ ยังต้องฝ่าด่าน อีกหลายด่าน ก. การพิจารณาของคณะองคมนตรี ว่าร่างพระราชกำหนดนี้มีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ กระทบและทำลายต่อหลักนิติรัฐ หลักความยุติธรรมหรือไม่ เพราะเมื่อไปจำกัดความรับผิดแล้ว บรรดาผู้เสียหายทั้งหลาย เกี่ยวกับการเสียชีวิต และเสียหายในทางทรัพย์สิน ไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดได้ เท่ากับว่าผู้กระทำความผิดตั้งตนอยู่เหนือกฎหมายบ้านเมือง ก็จะเสียไปซึ่งความยุติธรรม และพระมหากษัตริย์ก็ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจ ที่จะไม่ลงพระปรมาภิไธย อันเป็นอำนาจเดียวกันกับการไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย หรือไม่พระราชทานคืนมา ใน กรณีร่างพระราชบัญญัติที่แม้รัฐสภาเห็นชอบแล้ว ข. รัฐสภาจะอนุมัติพระราชกำหนดหรือไม่ ถ้าไม่อนุมัติก็จะตกไป ค. เป็นอำนาจของศาลยุติธรรม ที่จะพิจารณาว่าขอบเขตของการจำกัดความรับผิดนั้น ครอบคลุมถึง การกระทำโดยทุจริต หรือการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ ด้วยหรือไม่ ซึ่งมีบรรทัดฐานอยู่แล้วว่า กรณี บัญญัติวิธีกฎหมายแบบนี้ จะให้การรับรองคุ้มครองเฉพาะ การกระทำที่สุจริตและโดยชอบเท่านั้น ดังนั้นถ้ามีการฟ้องร้องกล่าวหาว่า เป็นการกระทำโดยทุจริต หรือละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ ก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชกำหนด ง. กระแสคัดค้าน ทั้งในทางการเมืองและมวลชน ซึ่งยังไม่รู้ว่า จะมากและรุนแรงขนาดไหน เพราะการไปจำกัดสิทธิ์ของผู้เสียหายจากการเสียชีวิต จากการป่วยเจ็บ และการถูกมาตรการ ต่างๆ ของ ศบค. ไม่ให้ฟ้องร้องเอาผิดแก่ผู้กระทำความผิด แล้วจะให้ไปฟ้อง เรียกค่าเสียหายเอาจากใคร การปิดกั้นเช่นนี้ เป็นอันตรายอย่างยิ่ง ก็น่าแปลกใจว่า ทำไมไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ผิดพลาดล้มเหลวและทำในสิ่งที่ถูกต้อง รวมทั้งการให้เยียวยา บรรดาความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งจะแก้ปัญหาและเป็นที่ยินดีแก่ทุกคน จะไม่ดีกว่าหรือ?