เกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นหนึ่งในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานให้ปวงชนชาวไทยนำไปปฏิบัติเพื่อยกระดับผลผลิตให้มีอาหารพอเพียงสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างมั่นคง บนพื้นฐานของความพอเพียงและความสามัคคี มีการแบ่งปัน สามารถดำรงชีพอยู่ได้โดยไม่ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจ หรือแม้แต่จากสภาวะที่ทั่วโลกกำลังประสบกันอยู่คือการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด19 เกษตรทฤษฎีใหม่มีหลักสำคัญคือ การบริหารจัดการที่ดินและน้ำเพื่อการผลิตภาคการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยแบ่งขั้นตอนการปฏิบัติออกเป็น 3 ขั้นตอน โดยขั้นตอนที่ 1 ด้วยการจัดสรรพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ในอัตราส่วน 30:30:30:10 โดย 30% แรกขุดสระน้ำและเลี้ยงปลา 30% ที่สองปลูกข้าว 30% ที่สามปลูกพืชสวนพืชไร่ และ10% เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ โรงเรือนต่างๆ ซึ่งอัตราส่วนนี้สามารถลดหรือเพิ่มได้ตามความเหมาะสมของพื้นที่ ขั้นตอนที่ 2 การรวมกลุ่มในรูปแบบของกลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์เพื่อทำการผลิตและการตลาด สวัสดิการ ฯลฯ และขั้นตอนที่ 3 การสร้างเครือข่ายกลุ่มอาชีพ ติดต่อประสานงานเพื่อหาแหล่งเงินทุน เช่น ธนาคาร เอกชนมาช่วยลงทุนและกระจายสินค้า ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิก นับตั้งแต่ที่พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ปวงชนชาวไทยทั่วทุกภูมิภาคต่างน้อมนำมาปฏิบัติใช้ โดยมีศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 6 แห่งทั่วภูมิภาคเป็นแหล่งสาธิต ศึกษาดูงาน ให้ข้อมูลพร้อมฝึกปฏิบัติให้แก่เกษตรกรที่สนใจอย่างต่อเนื่องตลอดมา เช่นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี ได้มีการจัดสรรพื้นที่จำนวน 5 ไร่ บริเวณริมถนนเพชรเกษมขาเข้ากรุงเทพมหานคร ด้านหน้าของศูนย์ฯ จัดทำเป็นแปลงสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่เพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้ามาดูงานศึกษาเรียนรู้ พร้อมกับจับจ่ายสินค้าผลผลิตจากโครงการฯ ได้ทุกวัน ซึ่งแปลงสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่นี้ มีสภาพเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีการจัดแบ่งพื้นที่เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม มีการผลิตพืชหมุนเวียนต่อเนื่องแบบหลากหลาย ทุกตารางนิ้วก่อเกิดประโยชน์และสร้างรายได้แบบรายวัน รายเดือน และรายปี นายโยธิน รัตคาม เจ้าหน้าที่งานขยายผลและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ อดีตนักวิชาการการเกษตร สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จ.ราชบุรี(สสก.2) ประจำศูนย์ฯ เล่าให้ฟังว่า เบื้องต้นมีการปรับขนาดพื้นที่ในแต่ละกิจกรรมตามความต้องการของการผลิต เป็นที่อยู่อาศัย โรงเก็บวัสดุ โรงคัดแยกพืชผัก 155.82 ตารางวา สระน้ำและบ่อน้ำพักความจุขนาด 1,000 ลูกบาศก์เมตร เติมน้ำได้ และแปลงพืชไร่ พืชสวน เน้นการผลิตแบบเกษตรผสมผสาน ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่เดียวกัน ปลูกผักบนดินแบบหมุนเวียนเพื่อลดปัญหาโรคแมลง ประกอบด้วย พริก มะเขือ ผักบุ้งจีน มะกรูด มะนาว โหระพา ปลูกในกระบะแบบยกสูง ปลูกคะน้า กวางตุ้ง ผักกาดขาว ผักชี ขึ้นฉ่าย ปลูกมะเขือเทศในมุ้ง พื้นที่ 129.59 ตารางวา ปลูกพืชไร่หมุนเวียน ประกอบด้วย อ้อยคั้นน้ำ ข้าวโพดฝักสด ถั่วลิสง 508.38 ตารางวา ปลูกไม้แบบผสมผสานสลับแถวเป็นพืชที่มีอายุในการให้ผลผลิตมากกว่า 3 – 5 ปี เช่น มะม่วง ส้มโอ ชมพู่ มะพร้าวน้ำหอม และพืชที่มีอายุให้ผลผลิตไม่เกิน 1 ปี เช่น ฝรั่ง มะละกอ กล้วยน้ำว้า เป็นต้น พื้นที่ว่างระหว่างแปลงปลูกดาวเรืองเพื่อตัดดอกจำหน่าย สำหรับการเลี้ยงสัตว์ มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย การเลี้ยงไก่แบบปล่อย จำนวน 6 เล้า เล้าละ 100 ตัว หมุนเวียนการปล่อยทุก 66 วัน และเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ จำนวน 12 บ่อ บ่อละ 600 ตัว หมุนเวียนการปล่อยทุก 12 วัน เพื่อให้สามารถจับจำหน่ายได้ทุกอาทิตย์ และพื้นที่นาข้าว จำนวน 43.54 ตารางวา ใช้ผ้าพลาสติกความหนา 2 มิลลิเมตร ปูรองพื้นเพื่อเก็บน้ำ ยกคันนาสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ใส่ดินในแปลงสูง 25 เซนติเมตร สามารถหมุนเวียนปลูกได้ตามอายุการปลูกข้าวตลอดทั้งปี ทำให้มีข้าวเพียงพอต่อการบริโภคในครอบครัว และยังมีเหลือไว้ขายอีกด้วย “ภายใต้แนวทางการประหยัดน้ำในแปลงสาธิต มีการให้น้ำพืช 2 รูปแบบ ให้น้ำแบบฉีดฝอยด้วยสปริงเกอร์ และแบบหยด และฉีดฝอยใต้ต้นด้วยมินิสปริงเกอร์ ควบคู่กับการนำนวัตกรรมด้านการเกษตรมาใช้เพื่อลดแรงงาน เช่น ระบบเปิดปิดประตูเล้าไก่อัตโนมัติ การให้น้ำพืชด้วยเครื่องตั้งเวลาเปิดปิดอัตโนมัติ ที่สำคัญแนวทางการจัดการพื้นที่ทำการผลิตด้วยเกษตรทฤษฎีใหม่นี้ จะทำให้เกษตรกรมีกินมีใช้เพียงพอตลอดทั้งปีในทุกสถานการณ์ และยังมีผลผลิตให้ได้ขายมีรายได้ทั้งรายวัน รายเดือน และรายปีอีกด้วย” นายโยธิน รัตคาม กล่าว เกษตรกรหรือผู้สนใจต้องการศึกษาดูงานหรือเรียนรู้แนวทางการทำการเกษตรทฤษฎีใหม่แบบประยุกต์นี้ ตลอดถึงผลผลิตและผลิตภัณฑ์ที่สดใหม่เพื่อสุขภาพที่ดีด้วยปราศจากสารเคมี สามารถแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชม พร้อมจับจ่ายได้ทุกวันที่แปลงสาธิตแห่งนี้ เบอร์โทรติดต่อ 032-593-253