“สหภาพฯยาสูบ-ชาวไร่ฯ” ร้อง “รมว.คลัง” หามาตรการเยียวยาผลกระทบภาษีใหม่ ปล่อย บ.ต่างชาติ ดัมพ์ราคาบุหรี่ โอด ขาดทุนครั้งแรกในรอบ 78 ปี พร้อมล่ารายชื่อยื่นศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราว
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 24 พ.ย. 60 ที่กระทรวงการคลัง กลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจยาสูบ และสมาคมพัฒนาชาวไร่ยาสูบ นำโดย นายคณุตม์ ฤทธิสอน ประธานสหภาพฯ และนายอรุณ โพธิตา เลขาธิการสมาคมพัฒนาชาวไร่ยาสูบ เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้รัฐบาลออกมาตรการเยียวยาและบรรเทาผลกระทบจาก โครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ ตามกฎกระทรวงการคลัง ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของโรงงานยาสูบที่ขาดทุนเป็นครั้งแรกในรอบ 78 ปีตั้งแต่ก่อตั้งโรงงานยาสูบขึ้นมา โดยมี นายจิระ พันธุ์คีรี ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการคลัง เป็นผู้รับหนังสือแทน
โดย นายคณุตม์ กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจาก พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฯ ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 ก.ย.60 ที่ผ่านมาว่า เราเข้าใจดีถึงเจตนารมณ์ในการแก้ไขกฎหมายและกฎกระทรวงของรัฐบาล เพื่อจัดหารายได้เข้ารัฐมากขึ้นจากผลิตภัณฑ์ยาสูบ รวมไปถึงเป็นมาตรการให้คนไทยลด ละ เลิก การสูบบุหรี่ลง หากแต่ตั้งแต่บังคับใช้กฎหมายใหม่มา กลับกลายเป็นช่องทางให้บริษัทบุหรี่ต่างชาติ ลดราคาขายปลีกบุหรี่หลายยี่ห้อ ไม่เป็นไปตามกฎกระทรวงใหม่ ทำให้ราคาถูกกว่าบุหรี่ระดับล่างของโรงงานยาสูบ ที่ต้องขึ้นราคาจากอัตราภาษีใหม่ ทำให้ยอดขายบุหรี่ของโรงงานยาสูบในเดือน ต.ค.2560 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 มีส่วนแบ่งการตลาดลดลงจาก 80% เหลือ 55% จนมีการประมาณการณ์ว่า ในปีงบประมาณ 2561 โรงงานยาสูบจะประสบภาวะขาดทุนมากถึง 1,575 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการขาดทุนครั้งแรกตั้งแต่ก่อตั้งโรงงานยาสูบขึ้นมา ทั้งยังส่งผลให้โรงงานยาสูบไม่สามารถจัดส่งรายได้เข้ารัฐได้ตามเป้าหมายด้วย จากเดิมที่ปี 2560 มีรายได้ส่งเข้ารัฐในรูปแบบภาษีประมาณ 54,000 ล้านบาท และประมาณการณ์ในปี 2561 จะจัดส่งภาษีได้ราว 43,000 ล้านบาท แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้โรงงานยาสูบจะจัดส่งรายได้ให้รัฐน้อยลงกว่าเดิมไม่น้อยกว่า 13,000 ล้านบาท
“สหภาพและพี่น้องเกษตรชาวไร่ยาสูบ มาในวันนี้เพื่อขอความเป็นธรรม ให้ท่าน รมว.คลัง พิจารณาหามาตรการเยียวยาคุ้มครอง ในฐานะโรงงานยาสูบเป็นหน่วยงานของรัฐในสังกัดกระทรวงการคลัง แต่ทำไมถึงปล่อยให้มีช่องว่างทางกฎหมายให้บริษัทบุหรี่ต่างชาติหาประโยชน์ และทำลายกลไกทางการตลาดในประเทศเสียหายเป็นอย่างมาก หากรัฐยังเพิกเฉย ทั้งยังอาจจะเลวร้ายทำให้โรงงานยาสูบต้องกลายเป็นรัฐวิสาหกิจที่เข้ารับการฟื้นฟูกิจการ หรืออาจถึงขั้นต้องปิดโรงงาน” นายคณุตม์ ระบุ
นายคณุตม์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจยาสูบ ได้ประกาศเชิญชวนพนักงานและผู้บริหารโรงงานยาสูบทุกระดับชั้น ร่วมกับพี่น้องเกษตรกรชาวไร่ยาสูบที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมาย รวบรวมรายชื่อเพื่อให้สหภาพแรงงานฯยาสูบ ยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้ออกคำสั่งคุ้มครองผลกระทบจาก พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ เป็นการชั่วคราว ในระหว่างที่ทางรัฐบาลพิจารณาแสวงหาแนวทางเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นในขณะนี้.
