ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว เป็นจำนวนถึง 20 ล้านโดส โดยใช้เวลาเพียง 36 วันในการฉีด 10 ล้านโดสหลังนี้ พร้อมเปิด 10 สถิติสำคัญ ดังนี้ 1.ประเทศไทยได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วมากกว่า 20 ล้านโดส โดย 10 ล้านโดสแรกใช้เวลา 124 วัน แต่สิบล้านโดสหลังใช้เวลาเพียง36 วัน (เร็วขึ้นกว่า 3.4 เท่า) ขณะนี้มีประชากร 23.9% ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 แล้วอย่างน้อยหนึ่งเข็ม และมี 6.7% ที่ฉีดครบสองเข็ม นอกจากนี้ 0.3% ได้รับวัคซีนเข็มสามแล้วโดยเป็นบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข 2.ใช้วัคซีนโควิด-19 จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ ซิโนแวก (48.77% ของจำนวนโดส), แอสตราเซนเนกา (43.95%) ซิโนฟาร์ม (7.00%) และไฟเซอร์ (0.28%) แต่ในแง่จำนวนคนนั้น มีผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซนเนกามากกว่าซิโนแวก 1.5 ล้านคน 3.ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ในไทยแล้ว 6 ชนิด และอยู่ระหว่างดำเนินการขึ้นทะเบียนอีก 2 ชนิด 4.จำนวนการฉีดวัคซีนมากที่สุดเกิน 670,000 โดสต่อวัน เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564 5.จังหวัดภูเก็ต ได้ฉีดวัคซีนโควืด-19 ครอบคลุมประชากรมากที่สุด โดย 75.9% ของคนภูเก็ตได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อยหนึ่งเข็ม และ59.2% ฉีดวัคซีนครบสองเข็มแล้ว ส่วนกรุงเทพมหานครได้รับวัคซีนแล้ว 70.2% ของประชากร โดย 14.9% ฉีดครบสองเข็มแล้ว ทั้งนี้ทั้งสองจังหวัดมีการฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุเกิน 60 ปี มากกว่า 80% แล้ว สำหรับจังหวัดที่ฉีดวัคซีนให้กับผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเกิน 80% แล้วคือ จังหวัดสมุทรปราการ 6.ประเทศไทยมีจำนวนการฉีดวัคซีนจำนวนเป็นอันดับ 4 ในอาเซียน และร้อยละการครอบคลุมประชากรเป็นอันดับที่ 5 7.ประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นอันดับที่ 27 ของโลกในแง่จำนวนโดส 8.ประเทศไทยมีวัคซีนโควิด-19 แล้วมากกว่า 30 ล้านโดส ได้แก่ แอสตราเซนเนกา 12.8 ล้านโดส ซิโนแวก 12.5 ล้านโดส ซิโนฟาร์ม5 ล้านโดส และ ไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส โดยได้รับบริจาควัคซีนจาก จีน 1 ล้านโดส (ซิโนแวก) ญี่ปุ่น 1.05 ล้านโดส (แอสตราเซนเนกา) สหราชอาณาจักร 0.42 ล้านโดส (แอสตราเซนเนกา) และสหรัฐอเมริกา 1.5 ล้านโดส (ไฟเซอร์) 9.วัคซีนสามารถลดการเสียชีวิต โดยผลการวิเคราะห์ผู้ที่เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 จำนวน 819 ราย มี 74.5% ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน และมีเพียง 2 รายที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว 10.วัคซีนที่วิจัยและพัฒนาโดยคนไทยอย่างน้อย 4 ชนิด กำลังทดสอบในมนุษย์ ได้แก่ วัคซีน ChulaCov19 พัฒนาโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วัคซีน HXP-GPOVac พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยมหิดลและองค์การเภสัชกรรม, วัคซีน COVIGEN พัฒนาโดยบริษัทไบโอเนท-เอเชีย จำกัด และวัคซีน Baiya SARS-CoV-2 Vax 1 พัฒนาโดยบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัดและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย