จากการคาดการณ์ถึงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 อาจจะส่งผลกระทบให้นักเรียนอาจต้องเรียนผ่านระบบออนไลน์อย่างน้อย 1-2 ปี ทำให้หลายๆ หน่วยงานมองว่า ปัญหาใหญ่ของการเรียนออนไลน์ คือ เด็กทั่วประเทศโดดเรียนออนไลน์กว่า 20% ทำให้เห็นว่าการเรียนออนไลน์ทำให้เด็กเครียดจนต้องโดดเรียน ดังนั้น ถ้ายังจะต้องเรียนออนไลน์ต่ออีก 1 ปี คิดว่าการศึกษาไทยน่าเป็นห่วงอย่างมาก ทั้งในเชิงคุณภาพ ความถดถอยทางการศึกษา และสุขภาพจิตของเด็ก ล่าสุด ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา กล่าวว่า ทั่วโลกมีการศึกษาเรื่องผลกระทบจากการเรียนออนไลน์ พบข้อมูลที่ตรงกันคือ ถ้าเด็กต้องเรียนออนไลน์ จะเกิดความถดถอยทางการศึกษาประมาณ 20-50% ดังนั้น หากต้องให้เด็กเรียนออนไลน์ต่ออีก 1 ปี เป็นทางเลือกที่ไม่เห็นด้วย การตัดสินใจที่จะให้เด็กเรียนออนไลน์ หรือรูปแบบอื่นนั้น เป็นการตัดสินใจที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก เนื่องจากระบบการศึกษาไทยเป็นระบบอนุรักษนิยม ที่ติดกรอบ ติดระเบียบไปหมด บวกกับความกลัวการแพร่ระบาดขอเชื้อโควิด-19 ทำให้ระบบการศึกษาหดตัว ถดถอย จึงกลายเป็นความกลัวเกินเหตุ ทำให้การจัดการศึกษาไม่ตอบสนองกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งที่ผ่านมาทางกระทรวงศึกษาธิการ ได้ปรับการเรียนการสอน โดยให้สถานศึกษาต้องปรับการเรียนการสอนตาม 5 รูปแบบ คือ On-site, On-air, On-demand, On-line และ On-hand แทนการสอบปกติแทบทั้งหมด ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวอีกว่า ในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่าเด็กติดเชื้อโควิด-19 จำนวนหนึ่ง แต่ยังไม่พบข้อมูลเด็กเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้น อยากเสนอให้ ศธ.นำเงินสร้างโรงพยาบาลสนาม หรือศูนย์พักคอยผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสถานศึกษา มาจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา และเด็กทั่วประเทศจะดีกว่า ถ้า ศธ.ยังไม่หาวัคซีนมาให้เด็ก และดึงเวลาโดยให้เด็กเรียนออนไลน์ จะสร้างความเลวร้ายต่อระบบการศึกษาของประเทศอย่างมาก