เมื่อสุขภาพฟันเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศนั้นๆ และจากผลการสำรวจสภาวะทันตสาธารณสุข ในปี 2560 พบว่า ผู้สูงอายุคนไทยที่มีอายุเกิน 60 ปี กว่าร้อยละ 56 เหลือฟันใช้งานไม่ถึง 20 ซี่! และมีเพียงร้อยละ 40 เท่านั้น ที่เหลือฟันกรามหรือฟันหลังไว้ใช้งาน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพช่องปากตั้งแต่เด็กไปจนสูงอายุ คณะทันตแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เผยแนวคิดการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยสะท้อนผ่านสุขภาพช่องปากและฟันที่มีสุขภาพดี พร้อมอาสาเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้การเข้าถึงการรักษาจากทันตแพทย์ง่ายขึ้น ด้วยการพัฒนาอุปกรณ์ทางทันตแพทย์ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อลดต้นทุนการรักษาฟันให้มีราคาย่อมเยา ช่วยให้ประชาชนทุกระดับเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น รวมทั้งผลิตทันตแพทย์ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญรอบด้านทั้งด้านทันตแพทย์ และเทคโนโลยี ที่จะทำให้คนไทยทุกเพศ ทุกวัย สามารถเข้าถึงการดูแลรักษาช่องปากและฟันได้อย่างทั่วกัน รองศาสตราจารย์ ทพญ.อารยา พงษ์หาญยุทธ รักษาการคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สะท้อนภาพรวมของการชี้วัดคุณภาพชีวิตผ่านสุขภาพช่องปากและฟันว่า “องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้กล่าวว่า สุขภาพช่องปากเป็นดัชนีชี้วัดสำคัญของสุขภาพโดยรวม หมายความว่า หากดูแลช่องปากดีเท่าไหร่ ก็จะทำให้สุขภาพร่างกายโดยรวมดีไปด้วย เพราะหากฟันผุ 1 ซี่ อาจส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ ตามมามากมาย ต้องบอกว่า ฟันผุ 1 ซี่อาจเป็นชนวนก่อโรคในร่างกาย อย่างการติดเชื้อจากฟันผุ ก็ส่งผลให้มีการติดเชื้อในกระแสเลือดได้เช่นกัน หรือการมีโรคเหงือก จะมีความเชื่อมโยงกันกับของโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ ส่วนผู้สูงวัยที่ไม่มีฟัน ไม่มีการบดเคี้ยวอาหาร จะส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นระบบทางเดินอาหาร และระบบการทำงานของระบบประสาทที่เชื่อมต่อกับการบดเคี้ยว โดยมีการวิจัยพบว่า การที่ผู้ป่วยสูงอายุที่ไม่ได้เคี้ยวนั้น มีผลทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด ภาวะสมองเสื่อม และโรคอัลไซเมอร์ได้ ดังนั้น สุขภาพช่องปากและฟัน จึงเสมือนเป็นตัวชี้วัดสุขภาพของร่างกายโดยรวม และหากต้องการให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ส่วนหนึ่งก็ต้องดูแลสุขภาพช่องปากและฟันให้ดี ซึ่งเป็นด่านหน้าที่สำคัญที่สุดของร่างกาย” ปัจจุบันแม้ว่าทันตแพทย์ไทยจะเก่งกาจเพียงใด ก็ต้องไล่ตามนวัตกรรมใหม่ๆ ประเทศไทยยังคงต้องพึ่งพาเทคโนโลยีทางด้านทันตกรรมจากต่างประเทศ อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การดูแลรักษาฟันมีค่าใช้จ่ายสูง และทำให้เกิดข้อจำกัดที่ทำให้ประชากรไทยส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงนวัตกรรมในการรักษาที่ให้ประสิทธิภาพสูงสุดได้ รองศาสตราจารย์ ทพญ.อารยา กล่าวว่า เทรนด์ต่อไปในอุตสาหกรรมทางการแพทย์คือ การที่เราสามารถผลิตนวัตกรรมทางการแพทย์ได้เอง เนื่องจากประเทศไทยต้องซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศประมาณปีละ 90,000 ล้านบาท โดยสถาบันฯ ได้ดำเนินการสร้างโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร เพื่อรองรับนวัตกรรมด้านการแพทย์ที่คิดค้น พัฒนา และสร้างขึ้นเอง สมกับสโลแกน “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยรอด” ของท่านอธิการบดี ศาสตราจารย์ ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ทั้งยังเป็นทางเลือกให้กับโรงพยาบาลอื่น ๆ ให้ได้มีอุปกรณ์การแพทย์ที่มีราคาถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศอีกด้วย “สิ่งสำคัญที่สุดคือ จากที่ประเทศไทยเคยสูญเสียเงินจำนวนมหาศาลในการซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศ ต่อไปเราจะสามารถใช้ Know How ที่มีทั้งหมดของอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายสาขาในสถาบันฯ โดยเฉพาะด้านวิศวกรรม วิทยาศาสตร์ และการจัดการข้อมูล เป็นต้น สร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้นมาใหม่ในเมืองไทย ทำให้เกิดการเข้าถึงของนวัตกรรมในราคาที่จับต้องได้ เป็นนวัตกรรมที่เราสามารถทำได้เองในประเทศ และไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์วิกฤตใดๆ ในโลก คนไทยจะไม่ขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพราะเราสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมเหล่านี้ได้ ซึ่งจะส่งผลไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทยด้วยนั่นเอง “ในอนาคตคณะทันตแพทยศาสตร์ของ สจล.(สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง) ก็มีแผนในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางทันตแพทย์ขึ้นเองเช่นกัน เพื่อสร้างหมอฟันรุ่นใหม่ที่จะไม่เป็นเพียงผู้ให้บริการ แต่เป็น “นวัตกร” ที่มีทักษะ วิชาชีพในการวินิฉัย รักษาผู้ป่วย มีความชำนาญและคุ้นเคยกับเทคโนโลยีทางทันตกรรมสมัยใหม่ ซึ่งเป็นยุคของ digital dentistry และสามารถรับมือกับการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จะเกิดใหม่ในอนาคต” เพราะคุณภาพชีวิตที่ดีมาจากสุขภาพช่องปากและฟัน ซึ่งเป็นด่านหน้าที่สำคัญที่สุดของร่างกาย!