คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ส่งคณาจารย์ลงพื้นที่ ต.คลองหลา อ.คลองหอยโข่ง รับฟังปัญหาและความต้องการเกษตรกร หวังใช้ความรู้ทางวิชาการช่วยให้ผลผลิตทุเรียนพื้นบ้านพันธุ์ปากท่า ของดีประจำถิ่น มีคุณภาพเทียบเท่าต้นดั้งเดิม ควบคู่พัฒนาขยายต้นพันธุ์ดีให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
ดร.มงคล เทพรัตน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมาตนได้มอบหมายให้คณาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตร ลงพื้นที่จัดทำโครงการพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนบนฐานด้านการเกษตรตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตำบลคลองหลา และตำบลโคกม่วง อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา โดยมีกิจกรรมย่อยหลายกิจกรรมในการลงพื้นที่ร่วมกับชุมชน ซึ่งแต่ละหมู่บ้านมีของดีของเด่นและเป็น OTOP ของหมู่บ้านอยู่แล้ว ทั้งตำบลคลองหลาและตำบลโคกม่วง โดยทางคณาจารย์ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเพื่อพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ดียิ่งขึ้น ทั้งในส่วนของการผลิตเครื่องแกงเพื่อการค้า การผลิตภัณฑ์ขนมซัง การผลิตและแปรรูปน้ำผึ้งชันโรง การผลิตผักระบบ GAP ครบวงจร การเลี้ยงปลาผสมผสานในแปลงเกษตร การพัฒนาการเลี้ยงปศุสัตว์ ผลิตภัณฑ์หอมเจียว ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น ไข่เค็ม ข้าวเหนียวกวนบ้านโหนด และการส่งเสริมและผลิตทุเรียนพื้นบ้าน เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นของดีในหมู่บ้านต่าง ๆ ทั้งสิ้น
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้อาจารย์ ดร.ศุภัครชา อภิรติกร และ ผศ.ดร.อมรรัตน์ ชุมทอง ซึ่งรับผิดชอบดูแลในส่วนของกิจกรรมย่อย : การส่งเสริมการผลิตทุเรียนในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งในพื้นที่ตำบลคลองหลา อำเภอคลองหอยโข่ง มีทุเรียนพื้นบ้านพันธุ์ปากท่า พันธุ์เก่าแก่ดั้งเดิมที่ขึ้นชื่อเรื่องรสชาติหวาน มัน เนื้อนิ่มอร่อย เนื้อเหนียวเข้มข้น อยู่ในพื้นที่หมู่ 7 บ้านช่างแก้ว โดยอาจารย์ ดร.ศุภัครชา และ ผศ.ดร.อมรรัตน์ ได้เดินทางไปยังสวนทุเรียนพิมศิริ (สวนทุเรียนปากท่า) ของนายไพฑูรย์ รัตนศรี และนายประพาศ รัตนศรี โดยก่อนนี้ได้ติดต่อประสานงานกับนางสาววีรนัส กาญจนะ และนางสาวอินทิมา จันวดี ผู้จ้างงานในโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย เพื่อประสานงานไว้ก่อนแล้ว
ผศ.ดร.อมรรัตน์ กล่าวว่า จากการสำรวจเบื้องต้นทราบว่ามีทุเรียนพันธุ์ปากท่าต้นเดิม ๆ เหลืออยู่เพียง 7 ต้นเท่านั้นในจังหวัดสงขลา จึงได้ลงพื้นที่เพื่อร่วมกันแก้ปัญหา พัฒนา และยกระดับผลิตภัณฑ์ตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ โดยได้พบปะและพูดคุยกับ นายไพฑูรย์ รัตนศรี นางดวงสมร รัตนศรี (ภรรยา) และ นางสาวพีชา รัตนศรี (บุตรสาว) ซึ่งนายไพฑูรย์เล่าให้ฟังว่าทุเรียนปากท่าที่ปลูกในสวนนี้มีจำนวน 6 ต้น ทั้งที่ให้ผลผลิตแล้วและมีอายุเพียง 2 ปี ได้มาจากการสืบทอดสายพันธุ์จากต้นแม่ที่มีอายุกว่า 200 ปีมาแล้ว โดยคุณพ่อนำมาปลูกไว้ ซึ่งคุณพ่อของตนเป็นคนลงมือทาบกิ่งเสียบยอด และสวนของพี่ชาย (นายประพาศ) มี 10 ต้น ทุเรียนปากท่ามีต้นกำเนิดมาจากทุเรียนป่าหรือที่คนทั่วไปเรียกว่าทุเรียนพื้นบ้าน ทุเรียนป่ามากับกระแสน้ำแล้วมาเจริญเติบโตที่ท่าน้ำบนที่ดินของนางหลอด โดยก่อนหน้านี้ทุเรียนปากท่าเคยให้ผลผลิตจำนวนมากราวต้นละ 400-500 ลูกเลยทีเดียว ซึ่งทางสวนจะเน้นย้ำให้ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ปลอดภัย
ในส่วนของสวนพิมศิรินางสาวพีชา รัตนศรี เล่าว่าคุณปู่ (นายเพิ่ม รัตนศรี) เป็นตัวอย่างของการทำการเกษตรแบบปลอดภัยและมีฝีมือในการขยายพันธุ์ ซึ่งทุเรียนพื้นบ้านพันธุ์ปากท่าของที่นี่สมัยก่อนคุณพ่อขายในราคาเพียงกิโลกรัมละ 50 บาทเท่านั้น แต่ปัจจุบันจากความนิยมในรสชาติความอร่อย หวานมัน เนื้อเข้มข้น เมล็ดลีบ เนื้อเป็นสีไข่ ไม่เหลืองจัดและไม่ขาวมาก ผลมีลักษณะทรงกลมสวย ไม่บิดเบี้ยว ขนาดไม่ใหญ่มาก น้ำหนักประมาณ 1.8-2.8 กิโลกรัมต่อผล ประกอบกับเป็นที่ต้องการของชาวจีนมาเลย์ที่ได้ลิ้มลองรสชาติและชื่นชอบ ทำให้ราคาผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 120 บาทต่อกิโลกรัม ช่วงออกผลผลิตจะอยู่ระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ของทุกปี ซึ่งนางดวงสมร ได้กล่าวเสริมว่าทุเรียนปากท่าของทางสวนให้ผลผลิตทุกปี ปีละสองรุ่น และยังมีต้นเล็กอีกจำนวน 4 ต้นอายุราว 2 ปีที่ยังไม่ให้ผลผลิต โดยปลูกขยายพันธุ์เอาไว้ เนื่องจากทุเรียนพื้นบ้านพันธุ์ปากท่ามีจำนวนน้อยลง และนอกจากพันธุ์ปากท่าแล้วในสวนยังมีทุเรียนที่ปลูกอีกหลากหลายสายพันธุ์ เช่น พันธุ์หมอนทอง พันธุ์ก้านยาว พันธุ์กระดุมทอง พันธุ์พวงมณี พันธุ์หลงลับแล พันธุ์นวลทองจันทร์ พันธุ์มูซังคิง พันธุ์หนามดำ พันธุ์ทองลินจง และพันธุ์สาลิกา เป็นต้น
ดร.ศุภัครชากล่าวเพิ่มเติมว่า พวกตนยังได้เดินทางไปยังสวนทุเรียนของนายประพาศ ซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน แต่ละต้นมีขนาดใหญ่ประมาณ 2-3 คนโอบ ให้ผลปีละ 1 ครั้ง มีเนื้อเยอะ เนื้อแน่น เนื้อละเอียด และหวานเข้ม อายุราว 60 ปี โดยนายประพาศเล่าว่าคุณพ่อได้ไปทาบกิ่งมาจากต้นแม่ ทำให้ได้ผลทุเรียนที่มีขนาดและรสชาติที่ดีเทียบเท่าต้นแม่ ประกอบกับดินบริเวณนี้เคยเป็นปากท่า ซึ่งเป็นที่รวมของสายน้ำทำให้ดินมีความสมบูรณ์เหมาะกับการปลูกไม้ผล ทำให้ได้ผลผลิตดี ตอนนี้ตนอยู่ระหว่างการขยายพันธุ์เพิ่มอีกด้วย เพื่ออนุรักษ์ทุเรียนพันธุ์ปากท่า เนื่องจากเกรงว่าหากต้นเดิมตายไปอาจจะทำให้สูญพันธุ์ไปได้
“จากการลงพื้นที่ทำให้มีโอกาสในการรับทราบปัญหาและความต้องการของเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนซึ่งจะได้ร่วมกันในเรื่องของการจัดการแปลงปลูกหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต เช่น การให้ปุ๋ย การตรวจสภาพดิน เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพเทียบเท่าต้นดั้งเดิม และเพื่อพัฒนาร่วมกันในส่วนของการขยายพันธุ์ต้นพันธุ์ดีให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งหาวิธีการขยายพันธุ์ที่เหมาะสมต่อไป” ดร.ศุภัครชา กล่าว