ชี้ RT-PCR หากเป็นบวกคือติดจริงไม่มีพลาด แต่หากเป็นลบ และยังมีอาการยังมีความเสี่ยงต้องตรวจซ้ำยืนยัน ขณะ Rapid test ออกมาเป็นบวกก็ใช่แน่ติดจริงๆ ไม่ต้องตรวจซ้ำอีกให้แยกกักตัวเองทันที แต่หากเป็นลบ อย่าชะล่าใจว่ารอดแล้ว โดยเฉพาะอยู่ในที่แวดล้อมด้วยความเสี่ยงหรือมีอาการชี้นำชัด ต้องตรวจซ้ำด้วยวิธี RT-PCR
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ อดีตศัลยแพทย์หัวใจและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ ถึงการตรวจ Rapid test กับ RT-PCR ในประเด็นความไว (sensitivity) และความจำเพาะ (specificity) ของการตรวจทั้งสอง โดยว่าที่เขียนเรื่องนี้เพราะเห็นว่าจำเป็นเมื่อคนไปรับการตรวจเป็นจำนวนมากก็จำเป็นต้องเข้าใจวิธีแปลผลและใช้ประโยชน์จากผลการตรวจ
ประเด็นที่ 1. รู้จักความไว (sensitivity) และความจำเพาะ (specificity)
การตรวจใดที่มีความไว (sensitive) หมายความว่าตรวจเจอหรือคันพบคนเป็นโรคได้เก่ง ถ้ามีคนเป็นโรคมาทีไรเป็นตรวจเจอทุกที โอกาสที่จะเกิดผลลบเทียม (หมายถึงว่าเขาเป็นโรคมาแต่ดันไปบอกว่าเขาปกติ) แทบไม่มีเลย อย่างนี้เรียกว่าการตรวจนั้นมีความไว (sensitivity) สูง
การตรวจใดที่มีความจำเพาะ (specify) หมายความว่าตรวจได้แม่น หากผลตรวจบอกว่าใครเป็นโรคก็จะต้องเป็นโรคจริงๆ ไม่มีผิดพลาด โอกาสที่จะเกิดผลบวกเทียม (หมายถึงว่าเขาไม่ได้เป็นโรค แต่ดันไปบอกว่าเขาเป็นโรค) แทบไม่มีเลย อย่างนี้เรียกว่าการตรวจนั้นมีความจำเพาะ (specificity) สูง
ประเด็นที่ 2. รู้จักการตรวจ RT-PCR
RT-PCR ย่อมาจาก reverse transcription (RT) and polymerase chain reaction (PCR) แปลว่าการตรวจหาไวรัสโดยเอาตัวไวรัสที่ได้จากการสว็อบจมูกมาฆ่าเสียก่อนแล้วแยกเอารหัสพันธุกรรม (RNA) ของมันออกมา แล้วก๊อปปี้ย้อนเอาแม่แบบที่ปั๊มรหัสพันธุกรรมนี้ (DNA) ขึ้นมา เปรียบเหมือนเอาดอกกุญแจมาหนึ่งดอกแล้วสร้างเครื่องปั๊มลูกกุญแจขึ้นมาหนึ่งเครื่อง แล้วเอาเครื่องนั้นไปปั๊มดอกกุญแจแบบนั้นออกมามากมายจนพอที่จะตรวจวัดปริมาณได้
การตรวจ RT-PCR มีความไว (sensitivity) 96.7% มีความจำเพาะ (specificity) 100% จึงเป็นการตรวจที่ใช้ยืนยันว่าคนที่มีอาการเหมือนคนติดเชื้อนั้นจริงๆแล้วติดเชื้อจริงหรือเปล่า ถ้าผลการตรวจบอกว่าติดเชื้อจริงก็คือติดเชื้อจริงๆไม่มีพลาด แต่ว่าถ้าผลการตรวจว่าไม่ติดเชื้อ ยังมีโอกาสติดเชื้อได้อยู่ราว 3.3% ดังนั้นหากอาการให้สงสัยมากๆ แต่ตรวจ RT-PCR ได้ผลลบก็ต้องตรวจซ้ำเพื่อยืนยันอีกครั้งหรืออีกหลายครั้ง
ประเด็นที่ 3. รู้จักการตรวจ Rapid test (Antigen test)
Rapid test หรือ Antigen test เป็นการเอาตัวไวรัสตัวเป็นๆ ที่สว็อบได้จากโพรงจมูกมา แล้วตรวจหาโมเลกุลบางตัวซึ่งอยู่บนผิวของไวรัส วิธีนี้ทำได้รวดเร็วมาก แค่ 15 นาทีก็ได้แล้ว เป็นการตรวจที่มีความไว (sensitivity) 60.5% ถ้าเป็นคนไม่มีอาการ หรือ 72.1% ถ้าเป็นคนที่มีอาการป่วยแล้ว ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งมันมีความจำเพาะ (specificity) 99.5%
จะเห็นว่า Rapid test มีความจำเพาะใกล้เคียงกับ RT-PCR แปลว่าหากตรวจได้ผลบวกก็แทบจะเชื่อขนมเจ๊กกินได้เลยว่าเป็นโรคแหงๆ ไม่ต้องไปนั่งยันยืนยันอะไรอีกดอก ให้แยกตัวเอง สงบสติอารมณ์ อยู่กับบ้านได้เลย โดยไม่ต้องไปมะรุมมะตุ้มขอตรวจยืนยันให้วุ่นวายขยายเชื้อ ตรงนี้คือประโยชน์ของ Rapid test คือถ้าได้ผลบวกก็ตัดตอนจบตรงนี้ได้เลย เปลี่ยนแผนการจัดการโรคได้เลย
แต่ขณะเดียวกันมันมีความไวเพียง 60.5% – 72.1% ซึ่งต่ำกว่า RT-PCR มาก หมายความว่าหากผลการตรวจได้ผลลบหรือไม่เป็นโรค โอกาสที่จะเป็นโรคยังมีอยู่ถึง 27.9 – 39.5% แปลไทยให้เป็นไทยว่าถ้าผลตรวจ Rapid test ออกมาลบ ก็เท่ากับไม่มีประโยชน์เลย หากมีเหตุการณ์แวดล้อมหรืออาการบ่งชี้หนักแน่นว่าน่าจะเป็นโรคแหงๆ ก็ควรขวานขวายไปตรวจ RT-PCR เพื่อดูว่าเป็นโรคจริงหรือเปล่า
สรุปว่าผลตรวจ Rapid test หากได้ผลบวก มีประโยชน์ ลัดขั้นตอนลงมือกักกันตัวเองได้เลย แต่หากผลตรวจได้ผลลบ ไม่มีประโยชน์ หากมีอาการที่ชวนสงสัยให้ไปตรวจ RT-PCR เพื่อความแน่ใจ...