เมื่อวันที่ 7 ส.ค. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมกับ กองทัพบกและกองทัพอากาศที่สนับสนุนอากาศยานและกำลังพล ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนและพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ตลอดจนการเติมน้ำให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ ที่ยังมีปริมาณน้ำต้นทุนน้อยอยู่ขณะนี้ ถึงแม้ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงกลางฤดูฝนแล้ว แต่หากเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาจะมีร่องมรสุมหรือร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านมาจากที่บริเวณภาคเหนือไล่ลงไปสู่ภาคใต้ ซึ่งจะทำให้เกิดปริมาณฝนกระจายตัวค่อนข้างมาก แต่ในปีนี้จะเห็นได้ว่าร่องมรสุมดังกล่าวแทบจะไม่ปรากฏว่าพาดผ่านเข้ามาในประเทศไทย จึงทำให้พี่น้องประชาชนในหลายพื้นที่ประสบปัญหาพื้นที่การเกษตรมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนกลางถึงตอนล่าง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางและตอนล่าง และพื้นที่ภาคใต้ก็ยังประสบปัญหาปริมาณน้ำฝนน้อยเช่นเดียวกัน กรมฝนหลวงและการบินเกษตรร่วมกับเหล่าทัพ จึงเฝ้าติดตามสภาพอากาศเพื่อขึ้นบินปฏิบัติการทำฝนบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชนทุกวันโดยไม่เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ ซึ่งหากสภาพอากาศเข้าเงื่อนไขจะขึ้นบินปฏิบัติการทันที สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 5 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของจังหวัดกำแพงเพชร นครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี เพชรบูรณ์ อุดรธานี สกลนคร หนองคาย ศรีสะเกษ อุบลราชธานี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สุรินทร์ สามารถเพิ่มปริมาณน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่ อ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่ (วังแขม) อ่างเก็บน้ำซับตะเคียน ​ นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงเช้าวันนี้ ผลการตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์ฝนหลวงทั่วประเทศ พบว่า พื้นที่ภาคกลาง เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง ในช่วงเช้านี้จึงวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 2 หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่ หน่วยฯ จ.กาญจนบุรี มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.สุพรรณบุรี จ.กาญจนบุรี พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ และหน่วยฯ จ.ลพบุรี มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.อุทัยธานี จ.นครสวรรค์ โดยมีหน่วยปฏิบัติการจำนวน 2 หน่วยฯ ไม่มีการขึ้นบินปฏิบัติการ ได้แก่ หน่วยฯ จ.ตาก เจ้าหน้าที่งดเข้าสนามบินตั้งแต่วันที่ 6-10 ส.ค.64 และกักตัวอยู่ในสถานที่ตั้งเพื่อเฝ้าระวัง สังเกตอาการ Covid-19 และ หน่วยฯ จ.พิษณุโลก เนื่องจากเจ้าหน้าที่สังเกตอาการผลข้างเคียงจากการเข้ารับการฉีดวัคซีน Covid-19 ​ อย่างไรก็ตามหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง อีก 9 หน่วยปฏิบัติการ จะยังคงติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด หากสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงและเข้าเงื่อนไขในการปฏิบัติการฝนหลวง จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายทันที ทั้งนี้ พี่น้องเกษตรกรและประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวงและติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และแจ้งข้อมูลข้อมูลเชิงพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น ปริมาณฝน ความต้องการน้ำในการทำการเกษตร ซึ่งเป็นข้อมูลที่ใช้ประกอบการตัดสินใจในการวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้ที่ช่องทาง Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account: @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100