เมื่อเวลา 08.00 น. ของวันที่ 07 สิงหาคม 2564 นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ นายก อบจ.สมุทรสาคร ได้นำทีมเจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร ประสานความร่วมมือกับ โรงพยาบาลสมุทรสาคร จัดจุดให้บริการฉีดวัคซีน “ซิโนฟาร์ม” ระยะที่ 1 วันแรก แก่ประชาชนชาวจังหวัดสมุทรสาคร ณ จุดฉีดวัคซีนแลนด์มาร์คมหาชัย จำนวน 1,000 คน , เซ็นทรัลพลาซา มหาชัย จำนวน 1,000 คน และ โรงพยาบาลกระทุ่มแบน จำนวน 1,000 คน ซึ่งก็มีผู้ที่เข้าสู่การจองฉีดวัคซีนผ่านในระบบ www.สาครวมใจ.com เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม 2564 จำนวน 33,000 คน เดินทางมารับบริการตามวันและเวลาที่ได้รับการนัดหมายไว้ โดยผู้ที่มาเข้ารับการฉีดวัคซีนระยะที่ 1 นี้ เป็นกลุ่มบุคล 7 องค์กร ได้แก่ องค์กรการศึกษา,องค์กรการกุศล,องค์กรด้านการแพทย์และสาธารณสุข,ผู้พิการ/ผู้ด้อยโอกาส/ชุมชนแออัด,ผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป,ผู้ป่วยติดเตียง และ พระ – นักบวช
นายอุดมฯ กล่าวว่า ตามที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาครได้รับการจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์ม จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ระยะที่ 1 จำนวน 33,000 คน ในภาพรวมวันแรกของการให้บริการฉีดวัคซีนนั้นก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี ส่วนการแบ่งระยะเวลาของการฉีดวัคซีนในส่วนของโรงพยาบาลสมุทรสาคร ใช้สถานที่แลนด์มาร์คมหาชัย กับ เซ็นทรัลพลาซา มหาชัย ส่วนของโรงพยาบาลกระทุ่มแบน ใช้สถานที่ของโรงพยาบาลที่เป็นจุดฉีดวัคซีนอยู่แล้ว ซึ่งทั้ง 2 โรงพยาบาลนี้ได้เริ่มดำเนินการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มตั้งแต่วันที่ 7 – 17 สิงหาคม 2564 ขณะที่โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) จะทำการฉีดตั้งแต่วันที่ 11 – 15 สิงหาคม 2564 นอกจากนี้ในวันที่ 12 สิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นวันแม่แห่งชาติ ทาง อบจ.สมุทรสาคร ยังได้มีแนวคิดที่จะร่วมกับโรงพยาบาลของรัฐจัดหน่วยให้บริการฉีดวัคซีนเคลื่อนที่แก่ผู้ป่วยติดเตียงอีกด้วย
นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ นายก อบจ.สมุทรสาคร กล่าวอีกว่า สำหรับในส่วนของวัคซีนซิโนฟาร์ม ระยะที่ 2 ที่ได้รับการจัดสรรจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มาอีก 67,000 คนนั้น ก็จะเปิดให้ประชาชนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร์ของจังหวัดสมุทรสาคร มาลงทะเบียนได้ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ของวันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะครบจำนวน ทางระบบออนไลน์ที่ www.สาครรวมใจ.com ซึ่งในการลงทะเบียนรอบที่ 2 นี้ จะมีกลุ่มให้เลือกเพิ่มมากขึ้นทั้งหมด 10 กลุ่ม ตามข้อกำหนดของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประกอบไปด้วย 1.ภาคธุรกิจบริการด้านอุปโภคและบริโภค เช่น ผู้มีอาชีพค้าขาย ตลาด ร้านค้า พ่อค้าแม่ค้า ฯลฯ,2.ภาคอุตสาหกรรมและการผลิต เช่น โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ,3.กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เช่น วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการรายย่อย,4.ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและนันทนาการ เช่น โรงแรม รีสอร์ท สปา สถานประกอบการนวด มัคคุเทศก์ฯ,5.ภาคธุรกิจการขนส่งและโลจิสติกส์ เช่น ผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะ การขนส่งสินค้าด้าน อุปโภค เช่น Grab, Foodpanda, Lineman ฯลฯ ,6.ภาคธุรกิจการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ เช่น ผู้ประกอบการธุรกิจก่อสร้างทุกประเภท ผู้ประกอบ การเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ,7.ภาคธุรกิจการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร เช่น เกษตรกร โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร ประมง นาเกลือ ฯลฯ,8.ภาคธุรกิจการเงิน เช่น ธนาคาร ธุรกิจไฟแนนซ์ ประกันภัย ตลาดหลักทรัพย์ ฯลฯ,9.ภาคธุรกิจการสื่อสารและบันเทิง เช่น กลุ่มโทรคมนาคม สื่อสารมวลชน ธุรกิจกองถ่าย นักแสดง นักดนตรี ฯลฯ และ 10.ประชาชนทั่วไป ฯลฯ
ขณะที่สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด 19 จังหวัดสมุทรสาคร จากการรายงานข้อมูลของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อเวลา 24.00 น. ของวันที่ 06 สิงหาคม 2564 ยังคงพบผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งสูงขึ้นอีก 1,372 ราย จำแนกเป็นพบผู้ติดเชื้อจากค้นหาเชิงรุก 270 ราย และพบผู้ติดเชื้อที่มาจากการเข้ารับการตรวจในโรงพยาบาลอีก 1,025ราย ในจำนวนนี้เป็นคนที่อยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร 690 ราย ที่เหลือเป็นคนนอกจังหวัดอีก 412 ราย ด้านผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมดรวม 57,489 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 32,692 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 24,613 ราย และ ผู้เสียชีวิตรายใหม่ 10 ราย รวมมีผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 184 ราย.