ชุมชนบึงพระรามเก้า ได้รับการพัฒนาโดยการใช้หลักบวร มาเป็นแกนหลักในการพัฒนามาตั้งแต่เมื่อประมาณ 30ปีก่อน ในปัจจุบันประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และยังคงยึดมั่นแนวพระราชดำรินี้มาโดยตลอด และมีหลายหน่วยงานที่มีการนำหลัก “บวร” ไปขยายผลและส่งเสริมในชุมชนต่างๆทั่วประเทศ
พระชายกลาง อภิญาโณ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ได้กล่าวถึงความสำเร็จ ของการนำหลัก “บวร ” มาใช้ในการพัฒนาชุมชนบึงพระราม 9 ว่า “ คำว่า บวร คือ บ้าน วัด และ โรงเรียน สามเสาหลัก ที่ประสานกันเป็นแกนหลักในการพัฒนา ไม่ว่า โลก สังคมและสิ่งแวดล้อม จะเปลี่ยนไป แต่หลักแห่ง “ บวร ” ยังเป็นสามประสานที่มั่นคง “ บวร ” เปรียบเหมือนคำสอนของพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า “ อกาลิโก ” ที่สามารถปฏิบัติได้ และ ให้ผลได้โดยไม่จำกัดเวลา ไม่ว่าสังคมจะก้าวกระโดดๆ ไปอย่างไร บ้าน วัด โรงเรียน ยังคงความเข็มแข็ง ตัวอย่างเช่นชุมชนบึงพระราม 9 ที่นำหลักการ “บวร” มาใช้ในการพัฒนาชุมชน เกิดจากความเชื่อมั่นศรัทธาในพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 ครั้งเมื่อพะองค์ได้ลงมาทรงงานในพื้นที่และมีพระปฏิสันถารกับคนในชุมชน ทุกคนศรัทธาในแนวพระราชดำริ “บวร” ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ให้ไว้ ชุมชนบึงพระราม9 เป็นชุมชน สัมมาชีพ เป็นชุมชนที่ทำมาหากินตามกำลังและทุนที่มีอยู่ เป็นชุมชนที่มีความสามัคคี แม้ว่าจะเป็นชุมชนของคน 3 ศาสนา มีทั้งพุทธ อิสสามและคริสต์ ต่างเกื้อกูลกัน ไม่มีความขัดแย้ง วัดจะเป็นศูนย์กลางของการทำกิจกรรมที่ไม่ใช่ศาสนากิจ วัดเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมชุมชน ที่วัดมีสำนักงานโครงการพิเศษประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ กปร. และยังร่วมมือกับหน่วยงานราชการหลายหน่วยงานเช่น กทม. ทำงานอย่างบรูณาการทำให้คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้น ใน ด้านการศึกษา โรงเรียนพระราม ๙ กาญจนาภิเษกเป็นโรงเรียนที่มีมาตรฐานเป็นโรงเรียนที่ดีโรงเรียนหนึ่งของ กทม. สามารถรองรับคนในชุมชน ลดการเดินทางของนักเรียน หลักการ “บวร” สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนได้ในทุกมิติ หลักการ “บวร” เป็นหลักการถาวร ที่ใช้ได้ตลอดกาล แม้สังคมจะเปลี่ยนไป ชุมชนที่มีความเข็มแข็ง จะเป็นชุมชนที่ยึดหลักการ “บวร” อย่างชุมชน บึงพระราม 9 แห่งนี้”
“ ในภาวะของการระบาดของโรคโควิด – 19 อยากจะแนะนำประชาชนว่า อย่าวิตกกังวล ก่นด่า จนกลายเป็นสังคมก่นด่า พุทธศาสนิกชน ต้องอยู่กับความเป็นจริงให้ได้ว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เตรียมรับมือ อย่าปริวิตกรักษาจิตก่อน อย่าบ่นด่าใคร ปรับตัวมีวินัยในการใช้ชีวิต ละเลิกการสังสรรค์ อย่าประณาม ก่นด่าผู้อื่นด้วยวาจาและปลายนิ้ว คนที่มีความสุขตอนนี้ อยู่รอดในตอนนี้ ไม่ใช่คนที่เก่งที่สุดแต่เป็นคนที่ปรับตัวได้ดีที่สุด”
หลักบวร ก็ยังคงเป็นนามธรรมที่เข้ากับทุกยุคทุกสมัยสามารถนำมาปรับใช้ให้เกิดความสามัคคีปรองดองกันในชุมชน บ้าน วัด โรงเรียน อยู่เคียงคู่กับสังคมไทยมายาวนาน แม้ว่าในปัจจุบันจะเปลี่ยนเป็นสังคมเมืองไปแล้วแต่
ขณะที่กรุงเทพมหานครต้องรับมือกับการระบาดของเชื้อโควิด – 19 ในส่วนภูมิภาคก็ต้องเร่งดูแลเสริมสร้างความมั่นคง และคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดชัยภูมิ สนับสนุนการสร้างความมั่นคงทางอาหาร และขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีปราชญ์ชาวบ้าน ที่เป็นผู้มีองค์ความรู้หลากหลายด้าน ทั้งเกษตร ประมง หัตถกรรมและการแปรรูป มาถ่ายทอดความรู้และเป็นผู้นำธรรมชาติที่สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนด้วย ณ ศูนย์เรียนรู้ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง บ้านซับรวงไทร อ.เมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิกัน ที่นั่นมีปราชญ์ชาวบ้าน ที่เดินตามรอยพ่อด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จนเกิดเป็นกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงปลูกผักปลอดภัยปราศจากสารเคมี
นายชูชีพ ชัยภูมิ ปราชญ์ชาวบ้าน จังหวัดชัยภูมิ เป็นผู้รวบรวมชาวบ้าน จนเกิดกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงปลูกผักปลอดภัย ปลอดจากสารเคมี บนพื้นที่ 35 ไร่ กลุ่มเกษตรกรบ้านซับรวงไทร เกิดจากการรวมตัวของชาวบ้านในพื้นที่ ตำบลนาเสียว อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ เพื่อปลูกผักปลอดภัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถานีพัฒนาที่ดินชัยภูมิ ให้เป็นแหล่งประกอบอาชีพด้านการเกษตรอินทรีย์และเกษตรผสมผสาน โดยจุดเด่นของที่นี่ คือ การทำเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกพืชไม้ผล ปลูกพืชผักสวนครัว มีระบบการจัดการน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อใช้ในการเพาะปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี และมีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ย ซึ่งปุ๋ยที่ผลิตเองช่วยให้พืชผักโตเร็ว และผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 20% อีกทั้งยังแบ่งพื้นที่ไว้ปลูกป่าอีกด้วย จากกรวมกลุ่มกันของคนในชุมชน ทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงการบริโภคผักปลอดภัยและนำมาสู่การมีสุขภาพที่ดีครับ เกษตรกรที่ปลูกผักมีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น กลุ่มเกษตรกรยังมีการจัดตั้งโครงการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบบ้านซับรวงไทร เพื่อให้เป็นศูนย์เรียนรู้สำหรับเกษตรกรทั่วไป กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดชัยภูมิ ให้การสนับสนุน คุณชูชีพ ชัยภูมิ ปราชญ์ชาวบ้าน หรือเรียกในอีกบทบาทหนึ่งว่า ปราชญ์เพื่อความมั่นคง เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ ให้กับผู้ที่สนใจ ได้รับความรู้ เทคนิคและวิธีการทำการเกษตร เกี่ยวกับพืชต่าง ๆ พร้อมทั้งเป็นต้นแบบการบริหารจัดการกลุ่มให้กับเกษตรกรในพื้นที่และนอกพื้นที่ และสร้างนวัตกรรมทางการเกษตรใหม่ขึ้นอีกด้วย
ปราชญ์ชาวบ้านหรือปราชญ์เพื่อความมั่นคง จะช่วยขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน ในการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาได้อย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบการบริหารจัดการน้ำ การผลิตปุ๋ย การเพาะปลูกพืชหมุนเวียนให้ได้ตลอดทั้งปี ซึ่งช่วยชุบชีวิตให้เกษตรกรมีรายได้อย่างต่อเนื่อง และไม่ลำบาก ไม่ต้องไปหางานทำไกลบ้านอีกด้วยครับ จึงถือเป็นความสำเร็จและความภาคภูมิใจกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดชัยภูมิ ที่สามารถสร้างต้นแบบเกษตรกร ที่เกื้อหนุนต่อการอนุรักษ์ดินและน้ำให้คงความอุดมสมบูรณ์ และยังสามารถต่อยอดองค์ความรู้ถ่ายทอดสู่เกษตรกรคนอื่น ๆ ส่งต่อแรงบันดาลใจ ให้เกษตรกรหันมาใส่ใจการปรับปรุงบำรุงดินเพิ่มมากขึ้นครับ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ยั่งยืนอย่างแท้จริงครับ
การแพร่ระบาดของโรคโควิดสถานการณ์-19 ในปัจจุบัน ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนหนึ่งที่เข้ามาพักอาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นชาวต่างจังหวัด และผู้ป่วยกลุ่มนี้ มีความประสงค์ ที่จะกลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนา เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกด้านการเคลื่อนย้าย ผู้ติดเชื้อ กองทัพบกโดยกองบัญชาการศูนย์การเคลื่อนย้ายกองทัพ จัดตั้งศูนย์สนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อโควิด – 19 สนับสนุนยานพาหนะพร้อมพลขับในการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อ เจ้าหน้าที่ทุกคนพร้อมเคียงข้างประชาชนอย่างเข้มแข็งต่อไปจนกว่าไทยจะชนะ เพื่อนำชีวิตปกติสุขกลับคืนสู่พี่น้องประชาชน
สามารถติดต่อศูนย์ประสานงานต้านภัย covid กองทัพบก ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 022705689 และ 026150269 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง