เมื่อวันที่ 6 ก.ค. นายปนิธิ เสมอวงษ์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ เปิดเผยว่า แม้ว่าสภาพอากาศของประเทศไทยใขณะนี้จะยังคงอยู่ในช่วงฤดูฝน แต่ในเรื่องของปริมาณและการกระจายตัวของฝนยังคงมีในบางพื้นที่ของประเทศ โดยจากข้อมูลแผนที่อากาศผิวพื้นของกรมอุตุนิยมวิทยา ณ เวลา 01.00 น. พบว่า ประเทศไทยยังคงได้รับอิทธิพลจากลมมรุสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่มีกำลังปานกลาง ซึ่งได้พัดปกคลุมมายังบริเวณประเทศไทย ฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ส่งผลให้แถบบริเวณดังกล่าวมีฝนตกหนักถึงหนักมาก และบางพื้นที่มีฝนตกปานกลาง ขณะเดียวกัน ได้เกิดพายุโซนร้อน “ลูปิต” ซึ่งกำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ก็ไม่ได้ส่งผลโดยตรงกับประเทศไทย ดังนั้น ในหลายๆ พื้นที่ของประเทศ จึงยังคงมีฝนค่อนข้างที่จะน้อยอยู่ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางที่เป็นพื้นที่ราบ ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมกับกองทัพอากาศและกองทัพบก โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 13 หน่วยปฏิบัติการ ทั่วประเทศ ก็ได้มีการติดตามสภาพอากาศเป็นประจำทุกวัน และเร่งวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ที่มีความต้องการน้ำอย่างต่อเนื่อง หากสภาพอากาศเข้าเงื่อนไข ซึ่งจากผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 10 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของจังหวัดกำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อ่างทอง สระบุรี ลพบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี สกลนคร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ยโสธร สระแก้ว เพิ่มปริมาณน้ำให้พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก อ่างเก็บน้ำห้วยยาง และบึงบอระเพ็ด ​ นายปนิธิ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงเช้าวันนี้ ผลการตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์ฝนหลวงทั่วประเทศ พบว่า พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง ในช่วงเช้านี้จึงวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 2 หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดขอนแก่น มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรจังหวัดอุดรธานี ขอนแก่น และจังหวัดหนองบัวลำภู และหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดอุบลราชธานี มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ ​ อย่างไรก็ตามหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง อีก 11 หน่วย จะยังคงติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด หากสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงและเข้าเงื่อนไขในการปฏิบัติการฝนหลวง จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายทันที ทั้งนี้ พี่น้องเกษตรกรและประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวงและติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และแจ้งข้อมูลข้อมูลเชิงพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น ปริมาณฝน ความต้องการน้ำในการทำการเกษตร ซึ่งเป็นข้อมูลที่ใช้ประกอบการตัดสินใจในการวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้ที่ช่องทาง Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account: @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100