โดยปรับให้ทุกรพ.รับผู้ป่วยเหลือง-แดงทั้งหมด เพิ่มศ.พักคอยชุมชนดูแลผู้ป่วยเขียว ขณะนี้เปิดศ.พักคอยแล้ว 65 แห่ง พร้อมเร่งฉีดวัคซีน 25 จุดนอกรพ. กลุ่ม 608-พท.เสี่ยง เปิดลงทะเบียนผู้สูงอายุผ่านโทร. ผู้สูงอายุ-หญิงท้องวอล์คอินได้ที่จุดฉีดนอกรพ. เช็คจุดที่ไทยร่วมใจ ระบุ“ซิโนฟาร์ม”ได้เร็วๆนี้ฉีดกลุ่มเปราะบาง 6 ส.ค.2564 ที่ศาลาว่าการกทม.(เสาชิงช้า) ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร แถลงข่าว Online สถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมี นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ และ พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย โดย โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ของกรุงเทพมหานครในเดือนสิงหาคม มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวานนี้ 3,000 กว่าราย วันนี้ 4,000 กว่าราย โดยในช่วงเดือนสิงหาคมนี้มีการคาดการณ์ผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ซึ่งกรุงเทพมหานคร จะดำเนินการ 3 เรื่อง คือ 1.ลดอัตราการเคลื่อนไหวของคนตามมาตรการที่ศบค.ออกมา 2.ปรับการรองรับสถานการณ์ เพิ่มศักยภาพของสถานพยาบาล ทุกโรงพยาบาลให้รับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงทั้งหมด ส่วนผู้ป่วยสีเขียวให้ทำ Home Isolation : HI หรือนำเข้าศูนย์แยกกักในชุมชน (Community Isolation : CI) หรือศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ 3.เร่งฉีดวัคซีน โดยในเดือนสิงหาคมได้รับจัดสรรวัคซีนมาฉีดใน 25 จุดฉีด ซึ่งจะเริ่มฉีดสัปดาห์แรกในวันที่ 7-10 ส.ค. ฉีดได้วันละ 40,000 กว่า รวมถึงเร่งฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุและหญิงตั้งครรภ์ ในจุดฉีด 25 จุดด้วย ซึ่งขณะนี้กทม.ได้รับความร่วมมือจากไทยพีบีเอส เป็นศูนย์ประสานงานฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุ โดยรับโทรศัพท์และลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับผู้สูงอายุ ผ่านทางโทรศัพท์ 40 คู่สาย เบอร์ 02-790-2855 รวมถึงจุดฉีดวัคซีน SCB จะให้บริการวอล์คอินซึ่งจะประกาศรายละเอียดให้ทราบวัน-เวลา และจำนวนให้บริการอีกครั้ง รวมถึงหญิงตั้งครรภ์สามารถวอล์คอินได้ 11 จุดฉีด ติดตามข้อมูลได้ที่เพจไทยร่วมใจ สำหรับศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อของกทม.ปัจจุบันมี 65 แห่ง รับได้ 8,625 เตียง และปรับเป็น ศูนย์พักคอยกึ่งโรงพยาบาลสนาม (Community Isolation plus : CI plus) จำนวน 7 แห่ง รับได้ 1,036 เตียง นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มศูนย์พักคอยชุมชน โดยนำร่องศูนย์พักคอยชุมชนขนาดเล็ก 6-50 เตียง (Semi Community Isolation) จำนวน 19 แห่ง รับได้ 462 เตียง และศูนย์พักคอยในชุมชนขนาดกลางดูแลโดยชุมชนหรือผู้นำศาสนา เริ่มที่เขตกรุงธนใต้ 2 แห่ง รับได้ 660 เตียง ทั้งนี้ให้ทุกเขตดูความพร้อมจัดตั้งเพิ่ม สำหรับการลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกโดยทีม CCRT ใน 2-3 สัปดาห์ ได้ลงไปแล้ว 2,271 ชุมชน มีผู้รับบริการรวม 118,000 กว่าราย และจะเจาะไปในพื้นที่บ้านประชาชนทั่วไปด้วย ทั้งนี้ ระบบ HI มีเบอร์ติดต่อกลาง 1330 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีความเป็นห่วงผู้ป่วยบางคนที่ตกหล่นไม่ได้รับการดูแลได้ทันท่วงที ได้จัดตั้งเบอร์สายด่วนโควิด 50 เขต ใช้กลไกของเขตเข้าไปดูแลในเบื้องต้น มีผู้ติดต่อวันละ 50-80 ราย/เขต สำหรับวัคซีนโควิด-19 ที่ผ่านมาการจัดสรรเป็นยอดรวม ที่เป็นปัญหา คือใน 25 จุดฉีดนอกโรงพยาบาล ที่ประชุม ศบค.จึงได้สั่งให้แยกยอด สำหรับ 25 จุดฉีดนอกโรงพยาบาล และโรงพยาบาลระบบหมอพร้อมรวมถึงพื้นที่เสี่ยงในชุมชน ในเดือนสิงหาคมนี้ ได้รับจัดสรรวัคซีน 25 จุดฉีดนอกโรงพยาบาล จำนวน 175,000 โด๊ส ทยอยจัดส่งทุกสัปดาห์ โดยสัปดาห์ที่ 1-3 จะได้รับ 175,000 โดส และสัปดาห์ที่ 4 ได้ 225,000 โดส ส่วนอีก 500,000 โดส แบ่งเป็นระบะหมอพร้อมฉีดในโรงพยาบาล 132 แห่ง 174,000 โด๊ส , เข็มสอง 57,000 โดส และอีก 269,000 โด๊สใช้ในการป้องกันการระบาด โดยทีมCCRT ฉีดให้กลุ่ม 608 และในพื้นที่เสี่ยง ร.ต.อ.พงศกร กล่าวถึงวัคซีนไซเฟอร์ที่จะฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์โดยจะต้องเร่งฉีดให้เร็วใน 1 เดือน เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องอุณหภูมิการเก็บรักษา ซึ่งสำนักอนามัยได้ประชุมโรงพยาบาลทุกแห่งย้ำไม่ให้เอาคนนอกกลุ่มมาฉีดวัคซีนเด็ดขาด มีการกำหนดบุคลากรด่านหน้าที่จะฉีดก่อนหลัง ซึ่งทางสำนักการแพทย์รายงานในส่วนของ 11 โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร ได้รับวัคซีนแล้ว 7,660 โด๊ส เริ่มฉีดทันที โดยที่สำรวจมีบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลกทม.รวม 10,000 คน ด้านการจัดหาวัคซีนทางเลือซิโนฟาร์ม รวมถึงวัคซีนโมเดอร์นา อยู่ในขั้นตอนการจองซื้อวัคซีนกับหน่วยงาน ซึ่งกรุงเทพมหานครพร้อมซื้อวัคซีนให้ได้มากที่สุดตามที่สามารถจัดซื้อได้ โดยวัคซีนซิโนฟาร์ม น่าจะเสร็จได้ก่อนในเร็วๆนี้ จะนำไปฉีดให้กลุ่มเปราะบางต่อไป