กรมประมง เร่งเพาะพันธุ์ปลา "ตะพัดเขียว" สัตว์น้ำหายากคืนถิ่น ดีเดย์ จัดกิจกรรมปล่อย 200 ตัว กลับคืนสู่เขื่อนรัชชประภา ถิ่นอาศัยเดิม เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ​เมื่อวันที่ 4 ส.ค.กรมประมง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสุราษฎร์ธานี และศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดสุราษฎร์ธานี ร่วมจัดกิจกรรมปล่อยพันธุ์ปลา “ตะพัดเขียว” จำนวน 200 ตัว คืนสู่แหล่งอาศัยในธรรมชาติเดิม ณ หน่วยพิทักษ์ป่าคลองหยา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง เขื่อนรัชชประภา ตำบลบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม 2564 ​นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กิจกรรมดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามโครงการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สัตว์น้ำประจำถิ่นและสัตว์น้ำหายากใกล้สูญพันธุ์ ของกรมประมง ซึ่งได้เล็งเห็นว่าปัจจุบันทรัพยากรสัตว์น้ำพื้นถิ่นหลายชนิดของไทยอยู่ในสภาวะถูกคุกคาม และบางชนิดมีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์สูง โดยเฉพาะ “ปลาตะพัดเขียว” (Scleropages formosus) หรือปลาตะพัดสีเงินสายพันธุ์ไทย ซึ่งในอดีตเคยมีรายงานพบปลาชนิดนี้ในพื้นที่จังหวัดตราด จันทบุรี สตูล ยะลา และสุราษฎร์ธานี แต่ปัจจุบันพบเพียงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา แม่น้ำตาปี คลองสก และคลองแสง ซึ่งเป็นลำน้ำที่ไหลลงสู่เขื่อนรัชชประภาเท่านั้น โดยคนท้องถิ่นจะเรียกว่า “ปลาหางเข้” แต่เนื่องจากมีรายงานการพบปลาตะพัดเขียวตามธรรมชาติน้อยมาก ประกอบกับเป็นปลาที่แพร่พันธุ์ค่อนข้างยาก มีอัตราการแพร่ขยายพันธุ์ในธรรมชาติค่อนข้างต่ำ จึงทำให้ปลาตะพัดชนิดนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์น้ำคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 และอยู่ในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) เป็นชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ระบุไว้ในบัญชีลำดับที่ 1 (CITES Appendix I) ​ดังนั้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรปลาตะพัดเขียว กรมประมง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสุราษฎร์ธานี จึงได้ดำเนินการเพาะขยายพันธุ์ปลาตะพัดเขียว เพื่อปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง มาเป็นเวลากว่า 20 ปี ด้วยการรวบรวมพ่อแม่พันธุ์จากแหล่งน้ำธรรมชาติในคลองแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อปี พ.ศ.2529 และเพาะพันธุ์จนสำเร็จเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2531 โดยในช่วงเริ่มต้นได้ลูกปลาขนาด 7.57 เซนติเมตร จำนวน 29 ตัว กระทั่งปัจจุบันมีการเพาะขยายอย่างต่อเนื่องจนมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น และได้ทยอยปล่อยปลาตะพัดเขียวคืนสู่ถิ่นอาศัยในแหล่งน้ำธรรมชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา ​ด้านนายเฉลิมพล เพ็ชรรัตน์ ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า ปลาตะพัดเป็นปลาสวยงามที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจที่ได้รับความนิยมเนื่องจากเป็นปลาที่มีรูปลักษณ์สวยงาม แบ่งตามความนิยมของตลาดเป็น 4 สายพันธุ์ ได้แก่ ตะพัดทองอินโดนีเซีย ตะพัดทองมาเลเซีย ตะพัดแดง ตะพัดเขียวหรือตะพัดเงิน ปลาตะพัดที่พบในประเทศไทย คือ ปลาตะพัดเขียว หรือตะพัดสีเงินสายพันธุ์ไทย โดยสีพื้นตามลำตัวจะมีสีน้ำตาลเทา มีวงสีเขียวอยู่ตามเกล็ด ซึ่งปลาตะพัดตามธรรมชาติจะอาศัยอยู่เฉพาะในลำธารป่าดงดิบ ตามแหล่งน้ำที่ใสสะอาด กระแสน้ำไหลเอื่อย และระดับความลึกของน้ำไม่มาก สำหรับการเพาะพันธุ์ปลาตะพัดเขียว ขณะนี้ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสุราษฎร์ธานีได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ภายใต้​​​​​​​​​​​การดำเนินการของ นายนพดล จินดาพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสุราษฎร์ธานี กรมประมง ซึ่งในปี พ.ศ.2563 ศูนย์ฯ สามารถเพาะขยายพันธุ์และอนุบาลลูกปลาตะพัดเขียวได้จำนวน 300 ตัว โดยใช้วิธีเพาะพันธุ์แบบธรรมชาติในบ่อดิน พ่อแม่พันธุ์ที่ใช้ในการเพาะมีอายุ 4-5 ปี ขนาดความยาวประมาณ 45 เซนติเมตร ขึ้นไป และมีน้ำหนักประมาณ 1.2-1.4 กิโลกรัม ทั้งนี้ ปลาตะพัดจะมีการผสมพันธุ์วางไข่ได้ตลอดทั้งปี โดยหลังจากผสมพันธุ์วางไข่เสร็จแล้ว พ่อปลาจะอมไข่และฟักลูกในปาก เลี้ยงตัวอ่อนในปากอีกประมาณ 2-3 เดือน จนเป็นตัวอ่อนเต็มวัย โดยจะลากอวนเคาะปากปลาตะพัดทุก1-2 เดือน ซึ่งแต่ละครั้งอาจปรับระยะเวลาตามความเหมาะสม เนื่องจากหากทำการเคาะปากในระยะที่กำลังอมไข่ พ่อปลาก็จะคายไข่ออกมาทำให้มีอัตราการฟักต่ำ หากเคาะปากในช่วงที่ลูกปลาฟักออกเป็นตัวและยังอาศัยอยู่ในปาก จะทำให้ได้ลูกปลาที่แข็งแรง มีอัตราการรอดตายสูง แต่หากช้ากว่านั้นลูกปลาจะออกจากปาก กลายเป็นอาหารของปลาตะพัดตัวอื่นที่อยู่ในบ่อ ส่วนการอนุบาลลูกปลาตะพัดจะใช้ตู้กระจก ระดับน้ำลึก 20-25 เซนติเมตร มีฝาปิดมิดชิดเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกปลากระโดดออกจากตู้อนุบาล และมีระบบเพิ่มออกซิเจนในน้ำ เมื่อลูกปลามีขนาดโตขึ้น ลดความหนาแน่นลงเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกปลากัดกันเอง โดยตลอดระยะเวลาต้องมีการดูแลเปลี่ยนถ่ายน้ำให้สะอาด มีคุณภาพดีอยู่เสมอ เพื่อเพิ่มอัตราการรอดของลูกปลาด้วย จนกระทั่งได้ลูกพันธุ์ปลาในขนาดที่เหมาะสม คือ ขนาด 12-16 นิ้ว ก็จะทำการปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติเพื่ออนุรักษ์ปลาตะพัดเขียวให้คงอยู่ตามธรรมชาติสืบไป ​รองอธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า กรมประมงมีความมุ่งมั่นที่จะเร่งฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำประจำถิ่นและสัตว์น้ำหายากที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายผลไปสู่การเพิ่มปริมาณประชากรในธรรมชาติให้มีปริมาณมากขึ้น เพื่อคงความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติไม่ให้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย โดยในปีงบประมาณ 2564 ตั้งเป้าในการเพาะขยายพันธุ์สัตว์น้ำประจำถิ่นและสัตว์น้ำหายากที่ใกล้สูญพันธุ์ให้ได้ถึง 36 ชนิด