หมูขอนแก่นตายยกคอกไปกว่า 100 ตัว รวมมูลค่ากว่า 500,000 บาท พบผลตรวจถึงกับอึ้งหลังเจ้าหน้าที่ระบุ ไม่ได้เป็นโรคที่จะต้องได้รับเงินชดเชยจากภาครัฐ และไม่ตรวจต่อว่าเป็นโรคอะไร
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 6 ส.ค.2564 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ที่บ้านหนองหญ้า-รังกา ต.น้ำพอง อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เพื่อพบกับนายจักราวุธ โขพิมพ์ อายุ 52 ปี ที่บ้านเลขที่ 92/2 ต.น้ำพอง เจ้าของฟาร์มสุกรรายใหญ่ของ จ.ขอนแก่น ทร่ได้พาผู้สื่อข่าวเดินสำรวจร่องรอยของการฝังกลบ สุกรจำนวน 40 ตัว ภายในบริเวณข้างฟาร์มเลี้ยงสุกรของตนเอง รวมทั้งการให้เจ้าหน้าที่ประจำฟาร์มได้เร่งทำความสะอาด บริเวณโดยรอบด้วยการ ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ ตามที่สำนักงานปศุสัตว์ อ.น้ำพอง ได้สั่งให้ทำลายเนื่องจากติดเชื้อยังไม่ทราบสายพันธุ์
นายจักราวุธ กล่าวว่าครอบครัวได้ทำการเลี้ยงหมูเพื่อทำการส่งจำหน่ายลูกหมูให้กับลูกค้าที่ต้องการนำหมูไปเลี้ยงต่อ โดยทำมาประมาณ 30 ปี ยังไม่เคยเจอโรคระบาดใดๆ ที่ทำให้ต้องหมูล้มตายเป็นจำนวนมากถึงขนาดนี้ โดยที่ขณะนี้พบหมูที่เลี้ยงไว้ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ แยกเป็นแม่หมู 40 ตัว ลูกอายุประมาณเดือนเศษ จำนวน 70 ตัว คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 500,000 บาท
"ก่อนที่หมูภายในเล้าจะตาย พบว่าหมูส่วนใหญ่มีอาการเป็นผื่นแดง ไข้ขึ้นสูง จากนั้นประมาณ 4-5 วันจะไม่กินอาหาร กินน้ำเพียงเล็กน้อย มีตุ่มสีม่วง ขึ้นตามใบหู ขอบตา เลือดออกตามปาก จมูก และตายในที่สุด และหลังเกิดเหตุได้แจ้งให้ปศุสัตว์ อ.น้ำพอง และ ผู้นำชุมชนได้ทราบและเข้ามาตรวจสอบ ซึ่งเจ้าหน้าที่โดยได้นำเลือดของแม่พันธุ์ที่ยังมีชีวิตอยู่ไปตรวจสอบหาเชื้อในห้องแลป ผ่านไปประมาณ 2 สัปดาห์ ได้เข้าไปสอบถามยังที่ปศุสัตว์ อ.น้ำพอง เพื่อขอทราบผลการตรวจหาเชื้อ เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ผลการตรวจเชื้อพบว่าหมูภายในเล้าไม่ได้เป็นโรคที่เข้าข่ายในการชดเชยของปศุสัตว์ จึงไม่ได้รับการชดเชยใดๆ ด้วยความสงสัย จึงถามไปว่าหมูของฟาร์มนั้นติดเชื้ออะไรถึงตายไปในลักษณะเช่นนี้ ทางเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์แจ้งว่า ผลการตรวจเลือดเมื่อไม่เป็นเชื้อตามที่ปศุสัตว์แจ้ง 2 โรค ก็จะไม่มีการตรวจหาเชื้ออีก สร้างความแปลกใจเป็นอย่างมาก เมื่อหมูไม่เป็นโรคตามที่ปศุสัตว์แจ้ง แล้วหมูของผมทั้งคอกตายเพราะสาเหตุใด เพราะไม่เคยมีลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นมาก่อน"
นายจักราวุธ กล่าวต่ออีกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้เกษตรกรจะต้องทำอย่างไร ในเมื่อหมูที่ตายถูกฝังกลบทั้งหมดแล้ว คอกก็ทำความสะอาดแล้ว หมูก็เลี้ยงไม่ได้ จะต้องรออีกนานเท่าใดจึงจะกลับมาประกอบอาชีพได้ ขณะที่เงินชดเชยก็ไม่ได้รับ ขณะเดียวกันจากการตรวจสอบพบว่าในเขต อ.น้ำพอง พบว่าฟาร์มหมูที่ประสบปัญหาอาการตายอย่างเดียวกัน เจ้าอื่นได้รับเงินชดเชยหมดแล้วแต่ของตนเองนั้นไม่ได้รับ เพราะเจ้าหน้าที่อ้างว่าไม่ได้เป็นโรคตายตามเงื่อนไขของประกาศของกรมปศุสัตว์ จึงไม่ได้รับการเยียวยา ซึ่งขณะนี้ครอบครัวสิ้นเนื้อประดาตัว ไม่มีแม้แต่เงินจะซื้อแม่พันธุ์หมูมาเลี้ยงใหม่ จึงขอให้เจ้าหน้าที่ได้เร่งสอบสวนโรคและเยียวยาให้กับเกษตรด้วย