NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ ชวนชม #ดวงจันทร์แกนิมีด ของดาวพฤหัสบดีแบบใกล้ๆ โดยยานอวกาศจูโนของ NASA ได้เคลื่อนที่โฉบเข้าใกล้ “แกนิมีด (Ganymede)” ดวงจันทร์ขนาดใหญ่สุดของดาวพฤหัสบดี ที่ระยะห่างเพียง 1,000 กิโลเมตรเหนือพื้นผิว ซึ่งนับเป็นการเข้าใกล้พื้นผิวดวงจันทร์แกนิมีดมากที่สุดในรอบ 20 ปี พร้อมกับบันทึกภาพดวงจันทร์แกนิมีดในระยะใกล้ แสดงให้เห็นรายละเอียดพื้นผิว หลุมอุกกาบาต และลักษณะโครงสร้างรอยเลื่อนบนพื้นผิวอย่างชัดเจน เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา
ภาพถ่ายแรกได้จากกล้อง JunoCam ซึ่งเป็นกล้องที่ใช้ถ่ายภาพในช่วงความยาวคลื่นแสงที่ตามนุษย์มองเห็น ได้ภาพสีของดวงจันทร์แกนิมีดมีความละเอียดของภาพอยู่ที่ประมาณ 1 กิโลเมตรต่อพิกเซล อีกภาพหนึ่งได้จากกล้อง Stellar Reference Unit เป็นกล้องใช้สำหรับนำทางให้ยานอวกาศอยู่ในเส้นทาง ซึ่งสามารถบันทึกภาพได้ในมุมมองจากตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ ภาพที่ได้จึงมีความสว่างน้อยกว่าภาพจากกล้อง JunoCam มีความละเอียดประมาณ 600 - 900 เมตรต่อพิกเซล แต่ก็ทำให้นักวิทยาศาสตร์บ่งบอกลักษณะภูมิประเทศต่างๆได้จากภาพเช่นกัน
จุดประสงค์ของการเคลื่อนที่โฉบดวงจันทร์แกนิมีดครั้งนี้คือ นักวิทยาศาสตร์ต้องการปรับวงโคจรของยานจูโน เพื่อรองรับภารกิจใหม่โดยจะศึกษาและบันทึกภาพดวงจันทร์แกนิมีดในระยะใกล้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานกัยว่าใต้พื้นผิวของดวงจันทร์แกนิมีดอาจมีมหาสมุทรเช่นเดียวกับดวงจันทร์ยูโรปาของดาวพฤหัสบดี และดวงจันทร์เอนเซลาดัสของดาวเสาร์
เรียบเรียง : กฤษณะ ล่ามสมบัติ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.
ที่มา :
[1] https://www.nasa.gov/.../see-the-first-images-nasa-s-juno...
[2] https://skyandtelescope.org/.../junos-ganymede-flyby.../"