วันที่ 5 ส.ค.64 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวแห่งชาติ (กยค.) ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า ที่ประชุมหารือกันเรื่องการสร้างความเข้มแข็งแก่สถาบันครอบครัวภายใต้สถานการณ์โควิด-19 และหลังโควิด-19 และได้เห็นชอบข้อเสนอต่อการขับเคลื่อนมติสมัชชาครอบครัวระดับชาติ ประจำปี 2563 ประกอบด้วย 1.การจัดพื้นที่เรียนรู้สำหรับครอบครัว เช่น การบูรณาการความร่วมมือกับองค์กร เครือข่าย ชุมชน สถานประกอบการ สร้างแกนนำส่งเสริมความรู้สำหรับครอบครัว การส่งเสริมสื่อสร้างสรรค์สำหรับครอบครัวและควบคุมสื่อที่ไม่เหมาะสม 2.การจัดสวัสดิการครอบครัวในภาวะวิกฤตโควิด-19 เช่น การทบทวนหรือปรับปรุงระเบียบ หรือกำหนดมาตรการทางภาษีเพื่อแบ่งเบาภาระของสถานประกอบการที่มีศูนย์เด็กเล็ก พัฒนาระบบให้คำปรึกษาครอบครัว สร้างกระบวนการเรียนรู้ของครอบครัวในภาวะวิกฤต จัดสวัสดิการสำหรับการเลี้ยงดูเด็กเล็กและที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา และ3.การจัดการเชิงนโยบายด้านครอบครัว เช่น การปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เอื้อต่อการสร้างครอบครัวคุณภาพ ทบทวนรูปแบบการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับบริบทความเปลี่ยนแปลง เช่น การจัดการศึกษาแบบHome School การจัดทำหลักสูตรออนไลน์ โดยข้อเสนอดังกล่าวจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณามอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานต่อไป นางสาวรัชดา กล่าวว่า คณะกรรมการฯยังได้เห็นชอบในร่างข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินงานป้องกันและแก้ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การช่วยเหลือและคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงภายใน 24 ชั่วโมง และปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างรอบด้าน โดยความร่วมมือประกอบด้วย 16 หน่วยงานภาครัฐ อาทิ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และองค์กรจากภาคประชาสังคมและเอกชนด้วย ทั้งนี้ การขับเคลื่อนจะยึดหลักมาตรการ 3P คือ 1) การป้องกัน (Prevention) 2) การคุ้มครอง (Protection) และ3) การดำเนินคดี (Prosecution) นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า นายจุรินทร์ ยังได้กำชับให้อนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัวเร่งทำการศึกษาเรื่องพัฒนาการของเด็กที่จะหายไปในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์เว็บไซต์ www.เพื่อนครอบครัว.com ซึ่งเป็นเว็บที่ให้สาระความรู้เกี่ยวข้องคนทุกวัยในครอบครัว และไลน์ @linefamily ที่จะให้คำปรึกษาปัญหาครอบครัว ซึ่งกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้จัดทำขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว เป็นพื้นที่การเรียนรู้ของครอบครัวผ่านระบบออนไลน์ซึ่งคนทั่วไปเข้าถึงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย