ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลสำรวจเรื่องผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อภาคธุรกิจไทย (BSI COVID) เดือนกรกฎาคม 2564 พบว่า ระดับการฟื้นตัวของธุรกิจในภาพรวมปรับลดลงจากเดือนก่อนในทุกภาคธุรกิจ ตามการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศในวงกว้าง และผลของมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่กลับมาเข้มงวดอีกครั้ง โดยเฉพาะภาคก่อสร้างจากคำสั่งปิดแคมป์คนงานเช่นเดียวกับภาคท่องเที่ยวและภาคการค้า ที่ได้รับผลกระทบจากการจำกัดการเดินทาง การปรับเวลาให้บริการ และห้ามนั่งรับประทานในร้าน ขณะที่ภาคการผลิตยังคงถูกกดดันจากการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ในโรงงาน ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ปัญหาการนำเข้าผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ตลอดจนการปิดโรงงานของคู่ค้าที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน
สำหรับการจ้างงานค่อนข้างทรงตัวทั้งด้านจำนวนแรงงาน และรายได้เฉลี่ย ยกเว้นการจ้างงานในภาคท่องเที่ยวที่ลดลงตามการปิดกิจการชั่วคราว และภาคก่อสร้างที่ปรับลดลงตามกิจกรรมที่หยุดชะงักหลังมีคำสั่งปิดแคมป์ ส่งผลให้แรงงานบางส่วนเคลื่อนย้ายกลับภูมิลำเนา โดยธุรกิจในภาพรวมมีการใช้นโยบายสลับกันมาทำงาน และลดชั่วโมงทำงานเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ขณะที่ธุรกิจบางส่วนเริ่มกลับมาใช้นโยบายลดเงินเดือนเพิ่มเติม โดยเฉพาะภาคที่มิใช่การผลิต
ขณะที่ในด้านสภาพคล่อง พบว่าธุรกิจส่วนใหญ่มีสภาพคล่องสำรองใกล้เคียงกับเดือนก่อน แต่เริ่มเห็นบางธุรกิจมีสภาพคล่องลดลง โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว และภาคก่อสร้างที่มีสัดส่วนของธุรกิจที่สภาพคล่องไม่เกิน 3 เดือนเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการฟื้นตัวของธุรกิจที่ปรับแย่ลง
ทั้งนี้ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ประเมินว่า ประชาชนจะเริ่มออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านและท่องเที่ยวตามปกติได้ เมื่อมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่น้อยกว่า 50 รายต่อวัน และเกิดได้ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 ขณะที่บางส่วนมองว่า การเร่งฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเพียงพอและทั่วถึงเป็นปัจจัยสำคัญมากกว่า