นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกทม.เป็นประธานประชุมชี้แจงทำความเข้าใจในการดำเนินการนำผู้ป่วยโควิด-19 เข้าระบบการรักษา โดยการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation : HI) และแยกกักในชุมชน (Community Isolation : CI) เพื่อให้การดำเนินงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ผ่านระบบ zoom meeting ซึ่งสำนักอนามัย ได้กล่าวถึงแนวทางดำเนินงานด้าน HI ปัจจุบันผู้ป่วยโควิด-19 สามารถติดต่อสายด่วน สปสช. 1330 ซึ่งเป็นหมายเลขกลาง และขณะนี้ กทม. ได้เปิดให้บริการสายด่วนโควิด 50 เขตเพิ่มเติมเขตละ 20 คู่สาย ซึ่งประชาชนสามารถโทรได้ทั้งสองช่องทาง นอกจากนี้ ยังสามารถเข้าผ่านทาง web application โดยสแกนผ่าน QR code จากนั้น จะมีการลงบันทึกข้อมูลผ่านทาง web portal ของสปสช. ระบบจะจับคู่หน่วยบริการอัตโนมัติ และส่งไปให้กับศูนย์บริการสาธารณสุข หรือคลินิกอบอุ่นที่อยู่ใกล้บ้านผู้ป่วย ซึ่งศูนย์บริการสาธารณสุขจะตอบรับผู้ป่วยภายใน 24 ชั่วโมง โดยมีการประเมินว่าเป็นสีเขียว สีเหลือง สีแดง กรณีที่เป็นสีเขียว จะเข้าระบบ HI แต่หากที่บ้านไม่สามารถแยกกักได้ จะส่งต่อไป CI หรือหากประเมินแล้วเป็นสีเหลืองหรือสีแดง ทางกรมการแพทย์ ได้จัดทำระบบ Bed Management Center โดยทำการหาเตียงที่ว่างเพื่อส่งต่อผู้ป่วย ในส่วนของการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจะดำเนินการโดยศูนย์เอราวัณ 1669 ซึ่งดูแลรถรับส่งผู้ป่วยในภาพรวม โดยมีการจัดตั้ง War room ตั้งอยู่ที่อาคารธานีนพรัตน์ชั้น 27 ศาลาว่าการกทม. 2 ดินแดง ซึ่งมีบุคลากรจากสำนักอนามัย สำนักการแพทย์ และกรมการแพทย์ ประชุมและประสานงานร่วมกันทุกวัน นอกจากนี้ สวทช. และ DGA ได้พัฒนาโปรแกรม BKK HI/CI care ซึ่งสามารถใช้งานผ่านสมาร์ทโฟน โดยแพทย์สามารถติดต่อกับคนไข้ผ่านทาง LINE OA เพื่อสอบถามอาการป่วยในแต่ละวัน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากจิตอาสาในหลายภาคส่วนที่จะเข้ามาร่วมทำงาน ด้านการจัดส่งอาหารให้กับผู้ป่วย ได้รับความร่วมมือจากสมาคมภัตตาคารไทย รวมถึงทางเดลิเวอร์รี่ Skootar ในการส่งอาหาร โดยมีการจำแนกประเภท เช่น อาหารฮาลาลสำหรับชาวมุสลิม อาหารมังสวิรัติ อาหารสำหรับพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งจะปรับให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา ครอบคลุมทั้ง 50 เขต รวมถึงการจัดส่งยาหรืออุปกรณ์แรกรับ สำหรับผู้ที่ไม่ได้ใช้สมาร์ทโฟนจะมีเอกสารคำแนะนำส่งไปให้ถึงบ้าน เช่น วิธีการวัดไข้ วัดออกซิเจน รวมถึงเอกสารเพื่อบันทึกอาการในแต่ละวัน นอกจากนี้ ยังมีอาสาสมัครสาธารณสุข ตำรวจนครบาล จิตอาสาพระราชทาน ส่งยาให้ผู้ป่วย รวมจำนวนหน่วยบริการทั้งหมดในกทม.รวบรวมได้ประมาณ 238 แห่ง รองรับผู้ป่วยประมาณ 80,000 – 100,000 คน ในส่วนของการดำเนินงานของศูนย์แยกกักในชุมชน (Community Isolation : CI) หรือในกทม. เรียกว่าศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อเป็นสถานที่สำหรับแยกผู้ติดเชื้อโควิค-19 ที่มีอาการไม่มาก หรือไม่แสดงอาการ ซึ่งประเมินแล้วว่าไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้ (Home Isolation : HI) ให้มาพักในศูนย์แห่งนี้ เพื่อรอนำส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลกรณีที่มีอาการรุนแรงขึ้น โดยแบ่งประเภทศูนย์พักคอยได้ ดังนี้ 1. ศูนย์พักคอยโดยกทม.ร่วมกับหน่วยงานภาคี (Community Isolation : CI) จำนวน 55 แห่ง 2. ศูนย์พักคอยกึ่งโรงพยาบาลสนาม (Community Isolation plus : CI plus) 7 แห่ง 3. ศูนย์พักคอยโดยภาคประชาชน (Semi Community Isolation) 19 แห่ง 4. ศูนย์พักคอยโดยหน่วยงานอื่น ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม 4 แห่ง และ 5. ศูนย์พักคอยในองค์กรเพื่อรองรับเฉพาะบุคคลในองค์กร (Organizational Isolation) 2 แห่ง รวมทั้งสิ้น 85 แห่ง ปัจจุบันกทม. จัดตั้งศูนย์พักคอยฯ แล้ว 62 แห่ง อยู่ในพื้นที่เขต 50 เขต เปิดบริการแล้ว 47 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 6 กลุ่มเขต (ข้อมูล ณ วันที่ 4 ส.ค. 64) สามารถรองรับผู้ป่วยได้จำนวน 7,926 เตียง ประกอบด้วยกลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ 11 ศูนย์ รองรับผู้ป่วยได้ 1,855 เตียง กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง 11 ศูนย์ รองรับผู้ป่วยได้ 1,130 เตียง กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ 11 ศูนย์ รองรับผู้ป่วยได้ 1,411 เตียง กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก 9 ศูนย์ รองรับผู้ป่วยได้ 1,323 เตียง กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ 9 ศูนย์ รองรับผู้ป่วยได้ 836 เตียง และกลุ่มเขตกรุงธนใต้ 11 ศูนย์ รองรับผู้ป่วยได้ 1,371 เตียง ทั้งนี้ ปลัดกทม. ได้มอบหมายให้สำนักอนามัย พิจารณาหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งศูนย์พักคอยฯ ให้เอื้อต่อการทำงานได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมจัดทำแนวทางในการนำผู้ป่วยโควิด-19 เข้าระบบการรักษา โดยการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation : HI) และการแยกกักในชุมชน (Community Isolation : CI) เพื่อให้เกิดแนวทางที่ชัดเจนและดำเนินการได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วด้วย อีกทั้งมอบหมายให้สำนักงานเขตดูแลให้คำแนะนำการจัดตั้งศูนย์แยกกักโดยชุมชนให้สามารถดำเนินการได้เพื่อช่วยลดผู้ป่วยตกค้างในชุมชนโดยเร็วที่สุด