จากกรณีที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาส่งวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส ให้แก่ประเทศไทย ภายใต้แผนบริจาควัคซีนจำนวน 80 ล้านโดสในทั่วโลก ซึ่งรวมถึง 23 ล้านโดสที่มอบให้แก่ประเทศต่างๆ ในเอเชีย โดยได้มาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา
จากนั้นกระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการจัดสรรไปยังกลุ่มเป้าหมายเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนป้องกันโควิด-19 เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมาดังนี้
บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับภารกิจดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศ (เข็ม 3 กระตุ้นภูมิคุ้มกัน) จำนวน 700,000 โดส
ผู้มีภาวะเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ที่มีสัญชาติไทย จำนวน 645,000 โดส
ผู้สูงอายุ
ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค อายุ 12 ปีขึ้นไป
หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป
ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย เน้นผู้สูงอายุ และโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และผู้เดินทางไปต่างประเทศ ที่จำเป็นต้องรับวัคซีนไฟเซอร์ เช่น นักการทูต นักศึกษา จำนวน 150,000 โดส
ทำการศึกษาวิจัย (ได้รับการอนุมัติโดยคณะกรรมการวิจัยจริยธรรม) จำนวน 5,000 โดส
สำรองส่วนกลางสำหรับตอบโต้การระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ จำนวน 40,000 โดส
ต่อมามีรายงานข่าวแจ้งว่า ในโซเชียลมีเดียได้เผยแพร่หนังสือ นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาการสาธารณสุข ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ สธ.0410.3/ว 516 ลงวันที่ 4 ส.ค. ถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด ซึ่งเป็นหนังสือการจัดส่งวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ไฟเซอร์ รอบต้นเดือนสิงหาคม 2564 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
ทั้งนี้จากเอกสารแผนการจัดส่งวัคซีนไฟเซอร์รอบต้นเดือนสิงหาคม 2564 พบว่ามีวัคซีนที่จัดส่งรวม 322,800 โดส แบ่งออกเป็นกลุ่มเป้าหมายประเภทที่ 1 จำนวน 301,200 โดส และกลุ่มเป้าหมายประเภทที่ 2 จำนวน 21,600 โดส กำหนดการจัดส่ง 4-6 ส.ค. โดยพบว่า 10 จังหวัดแรกที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์มากที่สุด ได้แก่
อันดับ 1 นครราชสีมา 15,360 โดส
อันดับ 2 ชลบุรี 12,720 โดส
อันดับ 3 นนทบุรี 11,280 โดส
อันดับ 4 สงขลา 10,800 โดส
อันดับ 5 เชียงใหม่ 10,320 โดส
อันดับ 6 สมุทรปราการ 10,080 โดส
อันดับ 6 อุบลราชธานี 10,080 โดส
อันดับ 8 ขอนแก่น 9,840 โดส
อันดับ 9 สุราษฎร์ธานี 7,680 โดส
อันดับ 10 บุรีรัมย์ 7,200 โดส
ส่วนจังหวัดที่ได้รับการจัดสรรน้อยที่สุด คือ สมุทรสงคราม และระนอง จังหวัดละ 1,200 โดส สำหรับกรุงเทพมหานครและหน่วยงานส่วนกลางอยู่ระหว่างพิจารณาจัดสรร