อีกหนึ่งภารกิจที่เปรียบได้กับงานปิดทองหลังพระ เพื่อช่วยผู้ป่วยโควิดได้คลายวิกฤติความทุกข์ทรมานทั้งกายและใจกับโรคร้ายที่ไม่เคยเผชิญมาก่อนในชีวิต กับคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต ดร.วรชาติ เฉิดชมจันทร์ คณบดีคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ในสถานการณ์ที่มีผู้ป่วยโควิดรายวันมากกว่าหนึ่งหมื่นคน มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นในแต่ละวัน ระบบสาธารณสุขไทยมาถึงจุดที่ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้อย่างเพียงพอ ในฐานะที่เป็นบุคลากรด้านสุขภาพ เป็นทั้งอาจารย์และนักกายภาพบำบัด รู้สึกเศร้าใจทุกครั้งที่รับรู้และเห็นภาพคนเสียชีวิตในบ้านและข้างถนน กระทรวงสาธารณสุข จัดจำแนกผู้ป่วยที่ติดโควิดออกเป็นสีเขียว สีเหลือง และสีแดง ตามความระดับรุนแรงของโรค และพบว่าเป็นผู้ป่วยโควิดสีเขียว 80% สีเหลือง 15-20% และเป็นสีแดงประมาณ 5-8% ดังนั้น ในการควบคุมโรคเพื่อลดอัตราการแพร่กระจายของเชื้อและอัตราการเสียชีวิต การบริหารจัดการในระยะ Home Isolation จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการควบคุมโรคและรักษาโรคนี้ ซึ่งเวลานี้คงไม่มีอะไรดีไปกว่า คนในสังคมหันมาร่วมมือกันตามกำลังความสามารถ ดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สร้างความร่วมมือและวางแนวทางในการบริหารจัดการชุมชนของตนอย่างเป็นระบบ นักกายภาพบำบัดอาสา มหาวิทยาลัยรังสิต เกิดจากการรวมตัวกันของคณาจารย์กายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อทำงานจิตอาสาในการลงพื้นที่ที่เป็นแหล่งรังโรค ซึ่งหนึ่งในกลไกของมหาวิทยาลัยรังสิต ในการให้บริการผู้ป่วยโควิดที่อยู่ Home Isolation “นักกายภาพบำบัดอาสา มหาวิทยาลัยรังสิต มีภารกิจในการส่งมอบ “ถุงห่วงใย” ที่ได้รับการสนับสนุนจากคนในชุมชนเมืองเอกที่ต้องการช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดที่อยู่ในตำบลหลักหก รวมทั้งสอนการใช้เครื่องวัดความดัน เครื่องวัดความอิ่มตัวในเม็ดเลือด (Oximeter) และเครื่องวัดอุณหภูมิที่มีอยู่ในถุงห่วงใย เนื่องจากเชื้อไวรัส COVID-19 จะทำลายเนื้อปอด ส่งผลให้ผู้ป่วยโควิดมีประสิทธิภาพการหายใจลดลงอย่างรวดเร็ว หัวใจต้องทำงานเพิ่มขึ้น นอกจากการสอนการใช้เครื่องมือดังกล่าวแล้ว นักกายภาพบำบัดอาสา ยังสอนวิธีการหายใจ การไอที่มีประสิทธิภาพ การจัดท่าเพื่อลดการใช้พลังงานในการหายใจและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของปอด เพื่อให้ผู้ป่วยโควิดไม่เปลี่ยนจากสีเขียวไปเป็นสีเหลืองและสีแดงตามลำดับอย่างรวดเร็ว โดยเมื่อกลับจากการลงพื้นที่ในแต่ละครั้ง ทีมนักกายภาพบำบัดอาสา จะนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมาจัดทำฐานข้อมูลพร้อมวางระบบติดตามอาการผ่านระบบออนไลน์หรือโทรศัพท์ผ่าน Video Call ทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ในกรณีที่พบผู้ป่วยมีอาการแย่ลงหรือต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ นักกายภาพบำบัดอาสาจะประสานงานส่งต่อให้ทีมแพทย์อาสาและเครือข่ายความช่วยเหลืออื่นๆ ตามปัญหาของผู้ป่วยแต่ละรายไป ข้อค้นพบอย่างหนึ่งที่เราพบ คือ ผู้ป่วยโควิดและคนรอบข้างส่วนใหญ่มีความวิตกกังวล กลัว และเครียดเป็นอย่างมาก ดังนั้น การลงพื้นที่ของนักกายภาพบำบัดอาสา นอกจากการดูแลทางการแพทย์แล้ว การได้พูดคุยมีคนแวะเวียนไปพบไถ่ถามอาการ ช่วยผ่อนคลายความเครียดและความกลัวให้กับผู้ป่วยและคนรอบข้างได้อย่างมาก เปลี่ยนความกังวลเป็นประสบการณ์ในการหาความหมายใหม่ของชีวิตที่เป็นสุขต่อไป แม้การดำเนินงานของเราจะเป็นเพียงการทำงานของทีมงานกลุ่มเล็ก ๆ แต่เราเชื่อว่า การทำให้คนมีความหวังกับชีวิตในช่วงวิกฤตเช่นนี้ จะช่วยให้เราทุกคนผ่านพ้นมันไปได้” คณบดีคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา ม.รังสิต กล่าวเสริม