เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 4 สิงหาคม ที่ห้องประชุมสำนักงานการกีฬาและท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา ศูนย์บัญชาเหตุการณ์ตอบโต้โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จ.นครราชสีมา นายกอบชัย บุญอรณะ ผวจ.นครราชสีมา ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมาพร้อมนายแพทย์นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นครราชสีมา ,แพทย์หญิงอารีย์ เชื้อเดช รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นครราชสีมาและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในฐานะคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมาร่วมประชุมครั้งที่ 120/2564 ผ่านเครือข่าย (Web Conference) โปรแกรม ZOOM ในระเบียบวาระการดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุม การแพร่ระบาดโรคติดต่อในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา การติดตามผลการดำเนินงานตามมาตรการและข้อสั่งการของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ พญ.อารีย์ รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา ชี้แจงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ 32 อำเภอ ของ จ.นครราชสีมา พบผู้ป่วยรายใหม่ 545 ราย สอบสวนโรคเป็นผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง 321 ราย เป็นผู้ป่วยเดินทางมารักษา 115 และสัมผัสผู้ป่วย 109 ราย รวมยอดสะสม 8,415 ราย รักษาหาย 3,457 ราย ยังรักษาอยู่ 4,891 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เป็นผู้ป่วยลำดับที่ 3,551 ชายอายุ 62 ปี ภูมิลำเนา เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ประวัติสัมผัสเชื้อในพื้นที่เสี่ยงแล้วหาเตียงไม่ได้ ญาตินำมารักษาที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในวันที่ 21 กค. อาการไม่ดีขึ้นส่งต่อ รพ.มหาราช นครราชสีมา มีภาวะปอดอักเสบรุนแรงทำให้เสียชีวิต รวมยอดเสียชีวิตสะสม 67 ราย ต่อมานายกอบชัย ผวจ นครราชสีมา ได้เป็นประธานทำพิธีมอบธงให้นายอำเภอและตัวแทนทั้ง 32 อำเภอ พร้อมประกาศเจตนารมณ์ “หมู่บ้านสีฟ้าปลอดโควิด-19 จังหวัดนครราชสีมา” และกล่าวว่า สำรวจข้อมูลล่าสุดจากจำนวนทั้งสิ้น 3,857 หมู่บ้านหรือชุมชน มี 3,354 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 87.4 ที่ไม่มีผู้ป่วย เกิดจากชาวบ้านช่วยเหลือแบ่งปันดูแลซึ่งกันและกันและร่วมกันเฝ้าระวังการแพร่ระบาด ทั้งนี้การกำหนดลักษณะของหมู่บ้านสีฟ้า ดังนี้ 1.หมู่บ้านไม่มีผู้ติดเชื้อและการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 2.กรณีมีผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงและถูกกักตัวพบติดเชื้อ และถูกนำส่งโรงพยาบาลหรือสถานกักตัวระดับชุมชน (CI) โดยยังไม่ได้เข้าพักในหมู่บ้านถือเป็นการคัดกรองทำให้หมู่บ้านไม่มีผู้ติดเชื้อ 3.หมู่บ้านนั้นมีผู้ติดเชื้อและได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลหรือ CI จนหายและถูกส่งกลับเข้ามาอยู่ 4.หมู่บ้านเหล่านี้มีแนวทางปฏิบัติที่เข้มแข็ง โดยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และคณะกรรมการหมู่บ้านร่วมกำหนดกลไกมาตรการและกติกาโดยแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในการฝ้าระวังป้องกันอย่างต่อเนื่อง ดังนี้ 1.สกัดคัดกรองผู้เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงเพื่อกักตัว 14 วันก่อนเข้าบ้าน 2.รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสาย รถกระจายเสียง ฯลฯ ให้ทุกคนในหมู่บ้านรับทราบข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง 3.ลูกบ้านมีการดำเนินการตามมาตรการ D-M-H-T-T-A อย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง 4.มีการส่งเสริมการปลูกและใช้สมุนไพรในการรักษาและป้องกันโควิด-19 5.กรณีที่มีคนในครอบครัวติดเชื้อและอยู่ระหว่างการดูแลรักษาในโรงพยาบาล,โรงพยาบาลสนาม หรือสถานกักตัวระดับชุมชน (CI) ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนดูแลช่วยเหลือและแบ่งปันครอบครัวผู้ติดเชื้อที่ยังอาศัยอยู่ในหมู่บ้านไม่ปล่อยให้ครอบครัวลำบาก “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” 6.มีมาตรการรักษาความปลอดภัยและค้นหาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องเมื่อพบผู้ติดเชื้อได้แจ้งฝ่ายสาธารณสุขนำไปรักษาตามระบบ 7.การสร้างเครือข่ายในการดูแลซึ่งกันและกันดำรงความเป็นหมู่บ้านสีฟ้าตลอดไป