นายพิบูลย์ หัตถกิจโกศล ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูณ์ พร้อมด้วย นางอังคณา หัตถกิจโกศล นายกเหล่ากาชาด จ.เพชรบูรณ์ นายสมชาย ธีรางกูร นายอำเภอน้ำหนาว และคณะ ลงพื้นที่ ต.หลักด่าน อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ เพื่อเข้าสำรวจและเยี่ยมชม ถ้ำใหญ่น้ำหนาว พบตัวถ้ำมีความสวยงาม มีหินงอกหินย้อยมากมาย อีกทั้งภายในถ้ำยังมีลำธารธรรมชาติที่มีน้ำใสเย็นจัดตลอดทั้งปีไหลออกมาจากปากถ้ำ โดยไม่เคยเหือดแห้ง สามารถดึงนักท่องเที่ยวให้ไปเยือนได้จำนวนมาก นายพิบูลย์ กล่าวว่า ถ้ำใหญ่น้ำหนาว ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว บ้านห้วยลาด ต.หลักด่าน อ.น้ำหนาว ทางเข้าสู่ถ้ำอยู่บริเวณ กม.60 ทางหลวงสายบ้านห้วยสนามทราย-กกกะทอน จากหน่วยพิทักษ์ของอุทยานฯ จะมีเส้นทางเดินเท้าไปสู่ปากถ้ำ ระยะทางประมาณ 200 เมตร โดยถ้ำดังกล่าวเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจและมีตำนานเล่าขานสืบต่อกันมา ภายในถ้ำใหญ่น้ำหนาวมีขนาดใหญ่ มีถ้ำย่อยแยกออกไปเป็นจำนวนมาก อุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศา และยังเต็มไปด้วยหินงอกหินย้อย ในรูปทรงและลักษณะต่างๆมากมาย “นอกจากนี้ยังมีลำธารธรรมชาติที่มีน้ำใสเย็นจัดตลอดทั้งปี ไหลออกมาจากปากถ้ำโดยไม่เคยเหือดแห้ง โดยมีทีมนักสำรวจจากต่างประเทศได้เข้าไปสำรวจภายในถ้ำ เป็นระยะทางกว่า 9 กิโลเมตร แต่ไม่สามารถเข้าไปสำรวจได้จนสุดภายในถ้ำยังคงมีทางให้เดินต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งในช่วงฤดูฝนถ้ำนี้จะมีน้ำเต็มไม่สามารถเข้าไปสำรวจได้ หากนักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสธรรมชาติ และอากาศหนาวเย็นภายในอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวในช่วงนี้สามารถแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมถ้ำใหญ่น้ำหนาว จะพบกับป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์โดยรอบถ้ำ และหินงอกหินย้ายที่งดงามภายในถ้ำอีกด้วย” ผวจ.เพชรบูณ์ กล่าว มีตำนานเล่าขานถ้ำใหญ่น้ำหนาว หรือ ถ้ำน้ำรินถ้ำแห่งนี้มีตำนานเกี่ยวกับพญานาคเล่าขานสืบต่อกันมาว่าครั้งอดีตกาล ก่อนที่จะมีบ้านห้วยลาด บริเวณนี้มีหมู่บ้านเก่าแก่อยู่หมู่บ้านหนึ่ง ชาวหมู่บ้านนี้มีความศรัทธายิ่งในพระพุทธศาสนาสมัยนั้นมีความเชื่อกันว่าบริเวณถ้ำใหญ่มีทางเดินที่สามารถเข้าสู่เมืองบาดาลได้ ทุก ๆ ปีพญานาค และ บริวารจะแปลงกายเป็นมนุษย์มาร่วมทำบุญกับชาวบ้านที่วัดบ้านธาตุ แต่มาปีหนึ่งหลังจากทำบุญเสร็จสิ้นปรากฏว่า ขันทองคำของพญานาคได้หายไปใบหนึ่ง เมื่อพญานาคและบริวารไม่สามารถหาขันทองคำได้จึงโกรธและประกาศว่าจะไม่มาทำบุญร่วมกับชาวบ้านตลอดไป พร้อมกับแปลงร่างจากมนุษย์กลายเป็นพญานาคพากันเลื้อยหายเข้าไปในถ้ำ เกิดเสียงก้องกัปนาท และ พื้นพสุธาหวั่นไหว แผ่นดินที่ตั้งของวัดบ้านธาตุ และ บริเวณใกล้เคียงได้ถูกดูดกลืน จนกลายเป็นตำนานของถ้ำใหญ่ที่เล่าขานสืบต่อกันมา และเกิดเป็นประเพณีท้องถิ่น บุญบั้งไฟเพื่อบูชาพญานาค มักจัดขึ้นในเดือนแปดของทุกปี เพื่อให้เจ้าพ่อปกปักรักษาและให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล